ศัตรูตัวฉกาจที่สุดในการปิดกั้นไม่ให้เราได้ออกไปทำสิ่งที่ใฝ่ฝัน ตัวฉกาจตัวนี้ก็คือ “การผัดวันประกันพรุ่ง”
และในหนังสือ Eat That Frog! ผู้เขียน Brian Tracy ได้แบ่งปัน 21 กลยุทธ์ที่จะช่วยหยุดการผัดวันประกันพรุ่งให้เรา ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ เพราะข้อมูลเหล่านี้ผ่านการศึกษามานานถึง 30 ปี
เราทุกคนสามารถเลิกผัดวันประกันพรุ่งกันได้ครับ ถ้าเกิดเรารู้จักกลยุทธ์ที่ถูกต้อง แล้วนำไปปรับใช้จริงกับตัวเอง
ลองนำทั้ง 21 กลยุทธ์เหล่านี้ไปปรับใช้ในชีวิตตัวเองนะครับ รับรองว่าเราจะเลิกผัดวันประกันพรุ่งได้อย่างแน่นอน
เราไปเริ่มกันเลยครับ
- 21 กลยุทธ์หยุดผัดวันประกันพรุ่งจาก Brian Tracy
- กำหนดเป้าหมาย
- วางแผนแต่ละวันเอาไว้ล่วงหน้า
- ใช้กฎ 80/20
- มองระยะยาว
- ผัดวันประกันพรุ่งอย่างสร้างสรรค์
- จัดลำดับความสำคัญ
- ให้ความสำคัญกับหน้าที่หลัก
- เวลางานก็ทำงานให้เต็มที่
- เตรียมความพร้อมก่อนเริ่มงาน
- โฟกัสทีละอย่าง
- พัฒนาทักษะสำคัญ ๆ
- ใช้จุดแข็ง
- ระบุข้อจำกัด
- สร้างแรงกดดันให้ตัวเอง
- รักษาพลังงาน
- มองโลกในแง่บวก
- อย่าให้เทคโนโลยีมากวนใจ
- หั่นงานเป็นชิ้นเล็ก ๆ
- กำหนดเวลาที่แน่นอน
- สร้างความรู้สึกเร่งด่วน
- ทำงานจนกว่าจะเสร็จ
- สรุป
21 กลยุทธ์หยุดผัดวันประกันพรุ่งจาก Brian Tracy
กำหนดเป้าหมาย
- มีจุดมุ่งหมายที่แน่วแน่ รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะคว้ามันมาให้ได้
- ต้องกำหนดเป้าหมายของชีวิตในแต่ละด้านให้ชัดเจน ความชัดเจนอาจถือว่าเป็นแก่นของการเพิ่มประสิทธิภาพเลยก็ว่าได้
- ยิ่งเรามีความชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการ และขั้นตอนที่ต้องใช้เพื่อให้ได้มันมามากเท่าไหร่ เราก็จะเลิกผัดวันประกันพรุ่งได้ง่ายขึ้นเท่านั้น
- การผัดวันประกันพรุ่งและการขาดแรงจูงใจมีสาเหตุหลักมาจากความคลุมเครือ ความสับสน และความกำกวมว่าตัวเองกำลังพยายามทำอะไร ต้องทำอะไรก่อนหลัง และทำไปเพื่ออะไร
สิ่งที่ต้องทำ
เขียนเป้าหมาย 10 อย่างที่อยากทำให้สำเร็จในปีหน้าสำหรับปีหน้า
เขียนประโยคให้อยู่ในรูปปัจจุบัน แง่บวก และใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 เช่น “ฉันมีเงิน x,xxx,xxx บาท”
แล้วเลือกมาเพียง 1 เป้าหมายที่จะส่งผลดีต่อชีวิตมากที่สุดหากทำสำเร็จ จากนั้นเริ่มลงมือทำมันทันที
วางแผนแต่ละวันเอาไว้ล่วงหน้า
- การรู้จักวางแผนให้ดีก่อนลงมือทำคือตัวชี้วัดความสามารถของเรา
- ยิ่งแผนของเราดีเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งเอาชนะการผัดวันประกันพรุ่ง
- การวางแผนชีวิตในแต่ละวันประมาณ 10 นาที สามารถช่วยประหยัดเวลาได้มากถึง 2 ชม
- ระบุสิ่งที่ต้องทำออกมาให้หมดหนึ่งคืนก่อนจะถึงวันพรุ่งนี้เสมอ
สิ่งที่ต้องทำ
เริ่มวางแผนล่วงหน้าให้กับทุกวัน ทุกสัปดาห์ และทุกเดือนตั้งแต่วันนี้ แล้วระบุทุกสิ่งที่ต้องทำใน 24 ชั่วโมงข้างหน้า และจัดเรียงตามลำดับความสำคัญ
ใช้กฎ 80/20
- งานที่มีค่ามากที่สุดในแต่ละวันมักจะเป็นงานที่ยาก ซับซ้อน แต่ให้ผลตอบแทนที่ใหญ่ที่สุด
- ถ้ามีงานต้องทำทั้งหมด 10 ชิ้น ให้เลือกแค่ไม่กี่งานที่จะเกิดประโยชน์มากกว่างานอื่น ๆ
- ก่อนเริ่มทำงาน ถามตัวเองเสมอว่า นี่เป็นงานที่สำคัญและให้ผลลัพธ์ดีที่สุดหรือไม่?
- ในทุก ๆ วัน จงเริ่มทำงานที่สำคัญที่สุดก่อนเสมอ เปรียบเหมือนกินกบที่น่าเกลียดที่สุดก่อน
สิ่งที่ต้องทำ
เขียนรายการสิ่งที่ต้องทำออกมาให้หมด แล้ววิเคราะห์ว่าสิ่งไหนที่เมื่อทำเสร็จแล้วจะส่งผลกระทบต่อชีวิตมากที่สุด
มองระยะยาว
- คนที่ประสบความสำเร็จจะมีภาพอนาคตที่ชัดเจนและลงมือทำสิ่งที่สอดคล้องกับภาพเหล่านั้น เพื่อให้ภาพนั้นเกิดขึ้นจริงในอนาคต
- ยิ่งภาพอนาคตชัดมากเท่าไหร่ ภาพปัจจุบันก็จะยิ่งชัดมากขึ้นเท่านั้น ทำให้สามารถรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญ สิ่งที่ควรทำ เพื่อจะได้ไปถึงเป้าหมายในอนาคตได้
- ก่อนจะเริ่มสิ่งใดก็ตาม ถามตัวเองเสมอว่า สิ่งนี้นำเราไปสู่เป้าหมายหรือไม่?
สิ่งที่ต้องทำ
ทบทวนสิ่งที่ทำอยู่เสมอด้วยการถามตัวเองว่า “อะไรที่หากฉันทำได้อย่างยอดเยี่ยมและทันเวลาจะก่อให้เกิดผลกระทบในแง่บวกมากที่สุดต่อหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวของฉัน”
ผัดวันประกันพรุ่งอย่างสร้างสรรค์
- ความจริงคือ เราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ทั้งหมด เราจำเป็นต้องผัดผ่อนบางอย่างออกไป เพื่อให้เหลือเวลาสำหรับสิ่งสำคัญ ๆ
- เราจะควบคุมเวลาและชีวิตได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเลิกทำสิ่งที่ไม่ค่อยสำคัญได้ดีแค่ไหน
- หนึ่งในถ้อยคำอันทรงพลังที่สุดในการบริหารเวลาคือ คำว่า “ไม่” แต่ต้องพูดอย่างสุภาพ
- จงเลือกที่จะผัดผ่อนสิ่งที่ไม่ได้มีความสำคัญและไม่ได้สร้างผลกระทบต่อชีวิต
สิ่งที่ต้องทำ
ตรวจสอบกิจกรรมแต่ละอย่างที่ทำ และให้เลือกกิจกรรมออกมาอย่างน้อย 1 อย่างที่ไม่ได้มีความสำคัญ แล้วกำจัดทิ้งทันที หรือไม่ก็เลื่อนออกไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายที่สำคัญกว่าเสียก่อน
จัดลำดับความสำคัญ
- ยิ่งใช้สมองไปกับการวางแผนและจัดลําดับความสำคัญก่อนมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งทำสิ่งที่มีความสำคัญได้มากขึ้นและทำเสร็จเร็วขึ้นเท่านั้น
- ใช้เทคนิค ABCD ในการจัดลำดับสำคัญ แค่เทคนิคนี้สามารถผลักดันให้อยู่แถวหน้าในสาขาอาชีพได้
- ระบุทุกสิ่งที่ต้องทำในวันพรุ่งนี้ขึ้นออกมาเป็นข้อ ๆ แล้วให้จัดเรียงประเภทงานตามอักษร A คือ งานที่สำคัญที่สุด B งานที่ควรทำ C งานที่ถ้าทำก็ดี D งานที่ให้คนอื่นทำแทนได้ E งานที่กำจัดทิ้งได้
- เมื่อระบุประเภทงานตามลำดับความสำคัญได้แล้ว ให้เริ่มลงมือทำงาน A ทันที
สิ่งที่ต้องทำ
ระบุสิ่งที่ต้องทำออกมาเป็นข้อ ๆ แล้วใส่ตัวอักษรตามระดับความสำคัญ A B C D E ไว้ท้าย เลือกงานที่มีความสำคัญสูงที่สุดระดับ A แล้วเริ่มลงมือทำทันที
ให้ความสำคัญกับหน้าที่หลัก
- หนึ่งในวิธีหยุดนิสัยผัดวันประกันพรุ่งได้เร็วและดีที่สุดคือ การพัฒนาตนเองให้สามารถทำหน้าที่หลักได้อย่างยอดเยี่ยม
- หน้าที่หลักคือ สิ่งที่ต้องรับผิดชอบอย่างเต็มตัว ถ้าไม่ทำ ก็ไม่มีใครทำแทน และเป็นส่วนที่จะสร้างผลกระทบในชีวิตมากที่สุด
- หนึ่งในคำถามที่ควรถามตัวเองคือ “ถ้ามีทักษะหนึ่งอย่างที่เมื่อฉันพัฒนาจนเชี่ยวชาญแล้ว จะส่งผลกระทบในแง่บวกต่ออาชีพการงานมากที่สุด ทักษะนั้นน่าจะเป็นอะไร?”
สิ่งที่ต้องทำ
ระบุหน้าที่หลักในงานออกมา อะไรคือสิ่งที่ต้องทำให้ได้อย่างยอดเยี่ยมเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด จากนั้นให้คะแนนตัวเองจาก 1-10 ในแต่ละด้าน แล้วกำหนดทักษะสำคัญหนึ่งอย่างที่ถ้าหากเราทำได้ดีเยี่ยมจะส่งผลต่องานมากที่สุด
เวลางานก็ทำงานให้เต็มที่
- วิธีที่ดีที่สุดในการมีความสมดุลระหว่างชีวิตและงานคือ ทำงานตลอดเวลาที่อยู่ในที่ทำงาน
- เมื่ออยู่ที่ทำงาน คุณภาพของเวลานั้นมีความสำคัญ แต่เมื่ออยู่ที่บ้าน ปริมาณของเวลาสำคัญมากกว่า
- เวลาที่ผลาญไปในที่ทำงานจะลดเวลาที่จะได้มีความสุขกับครอบครัว เพราะต้องกลับบ้านช้าหรือเอางานกลับมาทำต่อที่บ้าน
- เราควรตั้งเป้าหมายว่าจะทำงานอย่างเต็มที่และให้ออกมาดีที่สุด แล้วเก็บเกี่ยวรางวัลจากการทำงานให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเติมความสุขให้ชีวิตไปตลอดทางด้วย
สิ่งที่ต้องทำ
ในบรรดางานที่ทำทั้งหมด ให้ระบุงานสำคัญที่สุดออกมาโดยถามตัวเองว่า “ถ้าในหนึ่งวันฉันเลือกทำงานได้เพียงอย่างเดียว งานไหนที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อหน้าที่การงานของฉันมากที่สุด”
เมื่อระบุงานสำคัญที่สุดออกมาได้แล้ว ก็จงตั้งใจทำ ให้เต็มที่ไปตลอดทั้งวัน
เตรียมความพร้อมก่อนเริ่มงาน
- วิธีที่ยอดเยี่ยมที่สุดในการเอาชนะนิสัยผัดวันประกันพรุ่งและทำงานให้เสร็จมากขึ้นในเวลาที่น้อยลงคือ การตระเตรียมทุกสิ่งที่จำเป็นไว้ให้พร้อมก่อนเริ่มงาน
- ใช้เวลาไปกับการสร้างพื้นที่ที่ทำให้รู้สึกดีเวลาทำงาน ยิ่งพื้นที่ทำงานสะอาดและเป็นระเบียบก่อนเริ่มงานมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งเริ่มต้นและทำไปจนเสร็จได้ง่ายเท่านั้น
- เมื่อเตรียมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต้องมีความกล้าที่จะเริ่มลงมือ แล้วทุกสิ่งที่เหลือก็จะตามมาเอง
สิ่งที่ต้องทำ
ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะเก็บกวาดโต๊ะและพื้นที่ทำงานให้เป็นระเบียบเรียบร้อยตั้งแต่วันนี้
แล้วเราจะรู้สึกว่าตัวเองมีประสิทธิภาพมากขึ้นและพร้อมที่จะลุยงานทุกครั้งตอนนั่งลงที่โต๊ะทำงาน
โฟกัสทีละอย่าง
- หนึ่งในวิธีเอาชนะนิสัยผัดวันประกันพรุ่งที่ดีที่สุดคือ ต้องเลิกกังวลกับงานแสนยากที่อยู่ตรงหน้า แล้วพุ่งความสนใจทั้งหมดไปยังสิ่งที่สามารถทำได้ทีละอย่าง
- เราสามารถทำภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตให้สำเร็จได้ด้วยการฝึกตัวเองให้ทำไปทีละขั้นตอน
สิ่งที่ต้องทำ
เลือกเป้าหมายที่ผัดผ่อนมานาน และระบุขั้นตอนที่จำเป็นต้องทำเพื่อให้เป้าหมายนั้นเสร็จลุล่วงออกมาให้หมด แล้วเริ่มลงมือทำไปทีละขั้นตอนทันที
พัฒนาทักษะสำคัญ ๆ
- หนึ่งในสาเหตุหลักของการผัดวันประกันพรุ่งคือความรู้สึกขาดความมั่นใจในความสามารถของตัวเอง
- การทำงานให้เก่งขึ้นและการพัฒนาตัวเองเป็นหนึ่งในวิธีประหยัดเวลาที่ยอดเยี่ยมที่สุด เพราะยิ่งทำอะไรเก่งมากแค่ไหน ยิ่งจะใช้เวลาทำสิ่งนั้นน้อยลงมากเท่านั้น
- อย่าหยุดเรียนรู้ หมั่นศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานสำหรับความสำเร็จในทุก ๆ ด้าน
สิ่งที่ต้องทำ
ก่อตั้งโครงการ “ทำเพื่อตัวเอง” ตั้งแต่วันนี้ ผันตัวมาเป็นนักเรียนที่ใฝ่หาความรู้ตลอดชีวิต ระลึกไว้เสมอว่า การเรียนรู้ไม่เคยหลุดออกจากวงโคจรของการทำงานเลย
ใช้จุดแข็ง
- เพื่อบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น เราต้องรู้จุดแข็งของตัวเองและใช้จุดแข็งเหล่านั้น
- การทำสิ่งที่เป็นจุดแข็งและเป็นสิ่งที่เราชอบทำ สามารถเพิ่มความสามารถในการหารายได้ของเราได้อย่างมหาศาล
- สำรวจพรสวรรค์และความสามารถเฉพาะตัวของตัวเองเป็นระยะ ๆ อะไรที่ทำได้ดีเป็นพิเศษ เก่งเรื่องไหน อะไร ที่ทำได้ง่าย ๆ และทำได้ดีทั้งที่เป็นเรื่องยากสำหรับคนอื่น
สิ่งที่ต้องทำ
ถามคำถามสำคัญต่อไปนี้กับตัวเองอย่างสม่ำเสมอ “อะไรที่ฉันทำได้ดีเยี่ยมที่สุด ฉันชอบทำอะไรที่สุดในงานของฉัน หากฉันเลือกประกอบอาชีพอะไรก็ได้ ฉันควรเลือกอาชีพไหนดี”
ระบุข้อจำกัด
- ระหว่างจุดที่เราอยู่ในปัจจุบันกับจุดหมายที่ต้องการไปให้ถึง เรามักจะต้องก้าวข้ามข้อจำกัดบางอย่างให้ได้ก่อนหน้าที่ของเราคือ ระบุข้อจำกัดดังกล่าวออกมาให้ชัดเจน
- สิ่งใดที่คอยฉุดรั้งเราอยู่ อะไรที่เป็นตัวกำหนดว่าเราจะบรรลุเป้าหมายได้เร็วหรือช้า การตอบคำถามนี้ได้จะช่วยทำชีวิตเราก้าวหน้าได้อย่างก้าวกระโดด
- หมั่นตั้งคำถามกับตัวเองว่า อะไรเป็นตัวกำหนดความเร็วที่ฉันจะได้ในสิ่งที่ต้องการ
สิ่งที่ต้องทำ
ระบุข้อจำกัดที่เป็นตัวกำหนดว่าเราจะบรรลุเป้าหมายได้เร็วหรือช้า ตั้งคำถามว่า “ทำไมฉันยังไปไม่ถึงเป้าหมายเสียที อะไรในตัวฉันที่คอยฉุดรั้งฉันไว้”
ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอะไร ให้ลงมือจัดการกับมันทันที
สร้างแรงกดดันให้ตัวเอง
- คนที่ประสบความสำเร็จมักสร้างแรงกดดันให้ตัวเอง เพื่อที่จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนคนที่ไม่ประสบความ สำเร็จมักต้องรอคนอื่นมาสั่ง แนะนำ และสร้างแรงกดดันให้เสมอ
- จงมองตัวเองในฐานะบุคคลต้นแบบของผู้อื่น ตั้งมาตรฐานให้สูงเข้าไว้ ให้สูงกว่ามาตรฐานที่คนอื่นจะตั้งให้เรา
- เริ่มงานเร็วขึ้นอีกนิด ทำงานหนักขึ้นอีกหน่อย เลิกงานช้ากว่าเดิมสักเล็กน้อย และกำหนดเส้นตายของงานทุกงานเสมอ
สิ่งที่ต้องทำ
กำหนดเส้นตายให้งานทุกชิ้นและกิจกรรมทุกอย่าง แล้วยึดตามกรอบเวลานั้นและลงมือทำ
รักษาพลังงาน
- การจะเป็นคนที่มีความสุขและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หนึ่งในสิ่งที่ต้องทำก็คือ การปกป้องและรักษาระดับพลังงานในตัวให้เต็มเปี่ยมอยู่เสมอ
- การทำงานเป็นเวลานานเกินไป การนอนหลับไม่เพียงพอ การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และละเลยการออกกำลังกาย ล้วนเป็นวิธีที่ทำให้พลังงานของเราถดถอยลง ซึ่งส่งผลให้ผลงานออกมาไม่ดีด้วย
- ถ้าอยากทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเลิกผัดวันประกันพรุ่งได้ ต้องหมั่นดูแลรักษาระดับพลังงานของตนเองอยู่เสมอ
สิ่งที่ต้องทำ
จงตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะเพิ่มพลังและปรับปรุงสุขภาพให้ดีขึ้น โดยถามตัวเองว่า “อะไรที่ฉันควรทำมากขึ้น อะไรที่ฉันควรทำน้อยลง อะไรที่ฉันยังไม่ได้ทำแต่ควรเริ่มทำ อะไรที่ฉันทำอยู่ในตอนนี้แต่ควรหยุดทำ หากอยากมีสุขภาพที่ดีขึ้น”
มองโลกในแง่บวก
- ต้องคอยทำ หน้าที่เป็นกองเชียร์ของตัวคุณเอง โดยหมั่นกระตุ้นตัวเองให้ทำผลงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดออกมา
- ควบคุมความคิดของตัวเอง จำไว้ว่าเราคิดยังไงก็มักจะได้อย่างนั้นเสมอ ให้แน่ใจว่าเราคิดและพูดถึงสิ่งที่อยากได้มากกว่าสิ่งที่ไม่ต้องการ
- เราต้องเรียนรู้วิธีละทิ้งความคิดที่ลบ ๆ ที่ทำให้รู้สึกหมดพลัง หมดไฟ ที่ไม่อยากลุกขึ้นมาทำชีวิตให้ดีขึ้นกว่าเดิม
สิ่งที่ต้องทำ
ทำให้มีแต่เรื่องในแง่บวกอยู่ในหัว อย่าวิพากษ์วิจารณ์ บ่น หรือโทษคนอื่น ไม่ว่าจะในเรื่องใดก็ตาม ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะ สร้างความก้าวหน้าแทนที่จะเอาแต่แก้ตัว ให้จดจ่อ ความคิดและทุ่มเทพลังงานไปข้างหน้าไปยังสิ่งที่เราสามารถทำได้ในตอนนี้เพื่อพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น
อย่าให้เทคโนโลยีมากวนใจ
- หากต้องการให้สมองปลอดโปร่ง และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เราต้องหัดปลีกตัวจากเทคโนโลยีและอุปกรณ์สื่อสาร
- เทคโนโลยีเป็นแค่ทาสรับใช้ไว้เพื่อช่วยเหลือเรา ไม่ใช่เจ้านายที่คอยขัดขวางไม่ให้ลงมือทำสิ่งที่จะพัฒนาชีวิตให้ดียิ่งขึ้น
- หนึ่งในกฎที่ยอดเยี่ยมที่สุดในการจัดการกับเทคโนโลยีคือ “ปิด มันเอาไว้”
สิ่งที่ต้องทำ
ในแต่ละวันให้สร้างพื้นที่เงียบ ๆ ขึ้นมา ปิดอุปกรณ์สื่อสารและเทคโนโลยีทั้งหมดเป็นเวลา 1 ชั่วโมงในช่วงเช้าและอีก 1 ชั่วโมงในช่วงบ่าย
หั่นงานเป็นชิ้นเล็ก ๆ
- เหตุผลหลักที่เรามักจะเลื่อนงานสำคัญ ๆ ออกไปก็เพราะตอนที่เราเห็นมันครั้งแรก มันดูหนักหนาสาหัสและใหญ่โตเกินกว่าจะรับมือได้
- ยิ่งงานดูเล็กเท่าไหร่ การเริ่มต้นและทำให้มันเสร็จก็จะง่ายขึ้นเท่านั้น และยิ่งทำงานเสร็จมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งรู้สึกดีและมีความสุขมากเท่านั้น
สิ่งที่ต้องทำ
ทุกครั้งที่รู้สึกไม่อยากทำงานชิ้นไหน ให้หั่นงานนั้นออกให้เล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วลงมือจัดการกับงานชิ้นเล็ก ๆ เหล่านั้นทันที
กำหนดเวลาที่แน่นอน
- การทำงานที่สำคัญมาก ๆ ให้สำเร็จล้วนต้องอาศัยช่วงเวลาที่ต่อเนื่องและนาน ความสามารถในการสร้างและใช้ช่วงเวลาเหล่านี้อย่างคุ้มค่า จะส่งผลอย่างมากต่อชีวิตและการทำงาน
- กุญแจสำคัญคือ การวางแผนแต่ละวันไว้ล่วงหน้า และกำหนดช่วงเวลาที่แน่นอนไว้สำหรับสิ่งสำคัญที่ต้องทำ
สิ่งที่ต้องทำ
คิดหาวิธีในการประหยัดเวลา จัดสรรเวลา และสร้างช่วงเวลาขึ้นมา แล้วให้ใช้ช่วงเวลาเหล่านี้ทำงานสำคัญ ๆ ที่ส่งผลกระทบมากที่สุด
สร้างความรู้สึกเร่งด่วน
- คนที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจะใช้เวลาคิด วางแผน และจัดลำดับความสำคัญของงาน จากนั้นจะลงมือทำอย่างรวดเร็ว
- ยิ่งเริ่มลงมือทำมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีแรงที่จะลงทำมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งลงมือทำ ยิ่งทำให้การลงมือทำครั้งต่อไปง่ายขึ้น
- หนึ่งในวิธีที่เรียบง่ายและทรงพลังที่สุดในการกระตุ้นตัวเองให้ลงมือทำ คือ การพูดกับตัวเองซ้ำ ๆ ว่า “ทำเดี๋ยวนี้! ทำเดี๋ยวนี้! ทำเดี๋ยวนี้!”
สิ่งที่ต้องทำ
จงตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะสร้างความรู้สึกเร่งด่วนในทุก ๆ สิ่งที่ทำ เลือกงานที่มักผัดวันประกันพรุ่งแล้วตัดสินใจว่าจะลงมือทำทันที
ทำงานจนกว่าจะเสร็จ
- ความสำเร็จไม่ว่าในด้านไหนล้วนต้องอาศัยการมีวินัยและการควบคุมตัวเอง
- ความสามารถในการลงมือทำอย่างมุ่งมั่นตั้งใจจนกว่าสิ่งนั้นจะเสร็จสมบูรณ์เป็นกุญแจสำคัญสู่การทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เมื่อเริ่มทำงานอะไรแล้ว ก็ขอให้ทำงานนั้นจนกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ อย่าหยุด ๆ ทำ ๆ
สิ่งที่ต้องทำ
ตั้งปณิธานตั้งแต่วันนี้ว่าจะเลือกทำสิ่งที่สำคัญที่สุดแล้วจะลงมือทำจนเสร็จสมบูรณ์ถึงจะหยุดได้
สรุป
การผัดวันประกันพรุ่งเป็นธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ของเรา ซึ่งเราสามารถแก้ไขสิ่งนี้ได้โดยการมีกลยุทธ์ในการบริหารจัดการมัน ซึ่งทั้ง 21 เทคนิคนี้จะช่วยให้เราพิชิตอาการผัดวันประกันพรุ่งของเราได้ เพียงแค่เราต้องลงมือปฏิบัติ และมีความตั้งใจจริง
สรุปทั้ง 21 กลยุทธ์หยุดผัดวันประกันพรุ่ง

- กำหนดเป้าหมาย
- วางแผนในแต่ละวันล่วงหน้า
- ใช้กฎ 80/20
- มองระยะยาว
- ผัดวันประกันพรุ่งอย่างสร้างสรรค์
- จัดลำดับความสำคัญ
- ให้ความสำคัญกับหน้าที่หลัก
- เวลางานก็ทำงานให้เต็มที่
- เตรียมความพร้อมก่อนเริ่มงาน
- โฟกัสทีละอย่าง
- พัฒนาทักษะสำคัญ ๆ
- ใช้จุดแข็ง
- ระบุข้อจำกัด
- สร้างแรงกดดันให้ตัวเอง
- รักษาพลังงาน
- มองโลกในแง่บวก
- อย่าให้เทคโนโลยีมากวนใจ
- หั่นงานเป็นชิ้นเล็ก ๆ
- กำหนดเวลาที่แน่นอน
- สร้างความรู้สึกเร่งด่วน
- ทำงานจนกว่าจะเสร็จ
Leave a Comment