อิคิไก (Ikigai) คืออะไร ปรัชญาเพื่อชีวิตที่มีความหมาย [ฉบับสมบูรณ์]

อิคิไก (Ikigai) คืออะไร? ปรัชญาเพื่อชีวิตที่มีความหมาย [ฉบับสมบูรณ์]

ถ้าหากเรากำลังมองหาว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร? เหตุผลของการเกิดมาคืออะไร? ภารกิจและจุดประสงค์ของชีวิตคืออะไร? แสดงว่าเรากำลังมองหาสิ่งที่เรียกว่า อิคิไก (Ikigai)

ตอนนี้เรามีช่อง YouTube แล้ว! Podcast สำหรับคนรักหนังสือและการพัฒนาตัวเอง ใครสนใจ อย่าลืมไปติดตามกันได้นะครับ : ) 🙏
blank
ตอนนี้เรามีช่อง YouTube แล้ว! Podcast สำหรับคนรักหนังสือและการพัฒนาตัวเอง ถ้าเพื่อน ๆ กดติดตาม ผมจะรู้สึกดีมากครับ
blank

เราตื่นขึ้นมาด้วยนาฬิกาปลุกและอยากเอื้อมมือออกไปปิดมันทุก ๆ เช้าหรือเปล่า เราตื่นมาเพียงเพื่อใช้ชีวิตให้หมดไปอีกหนึ่งวันหรือเปล่า?

พวกเราแต่ละคนต่างมีเหตุผลถูกจับมาวางไว้บนโลกใบนี้ แต่หลายคนพบว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะรู้ว่าภารกิจและจุดประสงค์ของการเกิดขึ้นมาครั้งนี้คืออะไร นี่คือปัญหาที่ต้องแก้ไขด่วนที่สุด

เพราะถ้าเราไม่รู้ว่าเราภารกิจอะไรในชีวิต มันยากที่เราจะมีความสุขและเติมเต็มได้

การค้นหาอิคิไก (Ikigai) ของตัวเองจึงเป็นภารกิจพื้นฐานสำหรับทุกคนที่อยากจะมีชีวิตที่ยืนยาวและมีความสุขซึ่งเต็มไปด้วยความหมาย

ในบทความนี้ เราจะลงรายละเอียดเกี่ยวกับอิคิไกกันครับ หวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์และเข้าใจอิคิไกมากยิ่งขึ้นครับ 🙌

ความหมายของอิคไก (Ikigai)

อิคิไกเป็นแนวคิดที่มาจากผู้คนบนเกาะเล็ก ๆ ในจังหวัดโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น เป็นแนวคิดที่มีมาร่วมกว่าพันปีแล้ว ตั้งแต่ในยุคเฮอัน ค.ศ. 749-1185 โดยแรกเริ่มนั้น อิคิไก (Ikigai) มาจากคำว่า ikikai หรือที่แปลว่า “เปลือกหอย” ในยุคนั้นเปลือกหอยเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างมาก

โอกินาวายังได้เป็นสมาชิกของ โซนสีน้ำเงิน (Blue Zone) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้อยู่อาศัยมีอายุยืนยาวกว่าค่าเฉลี่ยอายุขัยของคนทั่วโลก

ปัจจุบันคำว่าอิคิไก (生き甲斐) ถูกใช้อธิบายถึงความสุขและความหมายของชีวิต ประกอบด้วย อิคิ (แปลว่ามีชีวิต) และ ไก (แปลว่าเหตุผล) ซึ่งถูกนำไปใช้ในหลากหลายบริบท ใช้กับเรื่องเล็ก ๆ ในชีวิตจนถึงเรื่องเป้าหมายและความสำเร็จในชีวิต

อิคิไกเป็นคำธรรมดาสามัญที่คนทั่วไปใช้กันในชีวิตประจำวัน

อิคิไก (Ikigai) คืออะไร?

แนวคิดเรื่องอิคิไก (Ikigai) นั้นค่อนข้างยากที่จะแปลเป็นภาษาใด ๆ ตรง ๆ แต่เนื้อความของมันคือสิ่งที่ให้ความหมายกับชีวิตของเรา สิ่งที่ทำให้เราตื่นขึ้นทุกเช้าด้วยความปีติยินดี และทำให้เรามีความสุข หรือจะพูดว่า อิคิไกคือแหล่งซึ่งนำความสุขมาสู่ชีวิตเราก็ได้

นอกจากนี้ อิคิไกยังมีความหมายอีกหลากหลาย เช่น สามารถเป็นจุดหมายปลายทางหรือจุดมุ่งหมายได้ เปรียบเสมือนลายแทงนำทางชีวิต หมายความว่า แต่ละคนจะมีภารกิจในชีวิต ซึ่งมนุษย์ทุกคนนี้ชีวิตอยู่เพื่อภารกิจนี้

บางครั้งอิคิไกก็ถูกใช้ในความหมายของการเป็นเหตุผลที่จะตื่นขึ้นในตอนเช้า ซึ่งมีความหมายทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น มันคือสิ่งกระตุ้นให้ดำเนินชีวิตต่อไป หรือเป็นสิ่งที่ให้รสชาติกับชีวิต ทำให้กระตือรือร้นอยากตื่นขึ้นมาทุกวัน

อิคิไกเป็นทั้งแหล่งกำเนิดความสุขและเป็นจุดมุ่งหมายในชีวิตและเป็นเหตุผลของการมีชีวิตอยู่

แต่มีหนึ่งวิธีที่ดีที่สุดที่จะสรุปภาพรวมของอิคิไกที่ครอบคลุมและเข้าใจง่ายที่สุดคือ แผนภาพ Ikigai Venn

แผนภาพอิคิไก (Ikigai Venn)

อิคิไกคือปรัชญาโบราณที่คิดขึ้นโดยปราชญ์แห่งโอกินาวา ซึ่งได้ให้ปรัชญา แนวคิด และสร้างคำว่าอิคิไกขึ้นมา แต่ด้วยมันเป็นปรัชญาที่ลึกซึ้ง และตีความได้ยาก จึงมีชายผู้ชื่อว่ามาร์ก วินน์ได้นำแนวคิดของอิคิไกมาตีความให้ทันสมัยขึ้นกลายเป็น “แผนภาพเวนน์”

จนทำให้ อิคิไกได้กลายเป็นที่รู้จักและเข้าถึงผู้คนได้ทั่วโลกในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย ๆ

อิคิไก (Ikigai) คืออะไร? ปรัชญาเพื่อชีวิตที่มีความหมาย [ฉบับสมบูรณ์]

แผนภาพนี้จะเป็นเหมือนลายแทงในการค้นหาอิคิไกของเรา โดยแบ่งออกเป็น 4 หลัก

1. สิ่งหลงใหล (Passion): ทำในสิ่งที่คุณรัก (Do what you love)

ในพื้นที่ส่วนนี้คือ ส่วนที่เราทำหรือประสบการณ์อะไรที่ทำให้เรามีความสุขที่สุดในชีวิต ทำให้เรารู้สึกมีชีวิตชีวาและเติมเต็มมากที่สุด

สิ่งที่เราหลงใหลในแง่นี้อาจจะเป็นการเขียน การร้องเพลง การวิ่ง การศึกษาประวัติศาสตร์ การทำอาหาร เป็นต้น

2. อาชีพ (Vocation): ทำในสิ่งที่คุณถนัด เก่ง หรือทำได้ดี (Do what you’re good at)

ในพื้นที่ส่วนนี้คือ ส่วนที่เราเก่งเป็นพิเศษ เช่น ทักษะที่เราได้เรียนรู้ สะสมมา งานอดิเรกที่เราใฝ่หา ความสามารถที่เราแสดงออกมาตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นต้น

สิ่งที่เราถนัดอาจจะเป็น การเล่นเปียโน การร้องเพลง การเล่นกีตาร์ การพูด การเข้าใจความรู้สึกของคนรอบข้าง กีฬา หรือการวาดภาพ เป็นต้น

3. ภารกิจ (Mission): ทำในสิ่งที่โลกต้องการ (Do what the world needs)

อะไรคือภารกิจในการเกิดมาในชีวิตนี้ของเราที่อยากจะทำให้กับโลกใบนี้

คำว่าโลกในที่นี้อาจเป็นเพื่อนมนุษย์โดยรวม ชุมชนบริเวณรอบบ้านของเรา หรือประเทศของเราก็ได้

โลกใบนี้ยังมีปัญหาอีกมากมายนับล้านที่รอให้คนอย่างเราคิดหาวิธีแก้ปัญหาให้ ถ้าเราค้นเจอสิ่งเหล่านี้ โอกาสจะเป็นของเรา

4. ความชำนาญ (Profession): ทำในสิ่งที่จะมีคนยอมจ่าย (Do what you can be paid for)

สิ่งที่ผู้คนยินดีที่จะจ่ายเงินให้เราหรือสิ่งที่ตลาดต้องการให้เราแก้ปัญหาให้ เราอาจจะหลงใหลในการเขียนบทกวีหรือปีนเขาเก่งมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีคนยินดีจ่ายเงินให้เสมอไป

การที่จะมีคนยินดีจ่ายเงินให้จากความสนใจหรือพรสวรรค์ของเรานั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นสภาวะเศรษฐกิจ หรือความสามารถที่เรามีเป็นที่ต้องการหรือไม่


blank

สิ่งที่หลงใหล (Passion) อาชีพ (Vocation) ภารกิจ (Mission) และความชำนาญ (Profession) ล้วนอยู่ในวงกลมแผนภาพเวนน์ที่ซ้อนทับกันสี่วง ของสิ่งที่รัก สิ่งที่ทำได้ดี สิ่งที่โลกต้องการ และสิ่งที่ได้รับรางวัลตอบแทน และ “จุดที่น่าสนใจ (Sweet Spot)” คือจุดที่ตัดทั้ง 4 วง ถ้าเราพบจุดนี้แสดงว่าเราค้นพบ Ikigai ของตนเองแล้ว

ทำไมคนเราถึงต้องรู้อิคิไก

นักสังคมวิทยา นักวิทยาศาสตร์ และนักข่าวหลายคนได้ค้นคว้าและตั้งสมมติฐานถึงประโยชน์และความจริงที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์นี้โดยเฉพาะ และพวกเขาก็ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจหลายประการ ทฤษฎีหนึ่งโดยเฉพาะคือ อิคิไกสามารถทำให้เรามีอายุยืนยาวขึ้นและมีจุดมุ่งหมายในชีวิต

ในเดือนกันยายนปี 2017 รายการทีวียอดนิยมของญี่ปุ่นชื่อว่า Takeshi no katei no igaku ร่วมมือกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เพื่อทำการวิจัยในเมืองเล็ก ๆ อย่างเคียวทั้งโกะในเกียวโต สถานที่มีประชากรผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่อายุเกิน 100 ปี ซึ่งโดยเฉลี่ยมากกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

โดยการวิจัยนี้ต้องการทราบว่าผู้สูงอายุที่มีความสุขเหล่านี้มีสิ่งที่เหมือนกันในชีวิตประจำวันอะไรบ้าง จึงได้ติดตามคน 7 คนในวัย 90 และ 100 ปี ตั้งแต่เช้าจรดพระอาทิตย์ตก โดยมีการตรวจเลือด และตรวจสุขภาพโดยรวม

สิ่งที่พวกเขาพบคือ คนทั้ง 7 มีตัวเลขของฮอร์โมน DHEAs ที่สูงเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ได้ชื่อว่าเป็น “ฮอร์โมนอายุยืน”

และพบว่าพวกเขามีสิ่งหนึ่งที่เหมือน ๆ กัน นั่นคืองานอดิเรกที่พวกเขาสนใจและฝึกฝนมันทุกวัน เช่น หญิงคนหนึ่งใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงทุกวันในการแกะสลักหน้ากากแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ผู้ชายอีกคนวาดรูป และอีกคนไปตกปลาทุกวัน (ซึ่งเราอาจเรียกได้ว่า งานอดิเรกคือ อิคิไกของพวกเขา)

ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 2 ของโลกที่ผู้คนมีอายุขัยยืนยาวมากที่สุด โดยผู้หญิงเฉลี่ย 88.09 ปี และผู้ชายเฉลี่ย 81.91 ปี แม้ว่าอาหารการกินจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้พวกเขาอายุยืนก็จริง แต่คนญี่ปุ่นหลายคนเชื่อว่าอิคิไกมีส่วนเกี่ยวข้องกับการมีอายุยืนยาวและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขด้วย

นอกจากการมีชีวิตที่ยืนยาวและมีความสุขมากขึ้นแล้ว การมีอิคิไกสามารถช่วยสิ่งเหล่านี้เราได้

  • ออกแบบไลฟ์สไตล์การทำงานในอุดมคติของเรา
  • สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับสังคม
  • สร้างความสมดุลชีวิต การทำงานและสุขภาพ
  • ได้ไล่ตามงานที่ใฝ่ฝัน
  • สนุกกับการทำงาน

และอีกหนึ่งข้อมูล ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 50,000 คน ผลการศึกษาที่เมืองโอซากิให้ข้อสรุปว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้มีอิคิไก ผู้ที่ไม่มีอิคิไกส่วนใหญ่ไม่ได้สมรส ไม่มีงานทำ ระดับการศึกษาต่ำ ประเมินสุขภาพตัวเองว่าไม่ดีหรือย่ำแย่ มีระดับความเครียดสูง มีความเจ็บปวดทางร่างกายรุนแรงหรือปานกลาง มีข้อจำกัดทางร่างกาย และไม่ค่อยมีโอกาสได้เดิน

ยิ่งเจออิคิไกได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะรู้สึกสงบและพึงพอใจจากชีวิตได้เร็วขึ้นเท่านั้น ซึ่งทำให้เรามีสุขภาพที่ดีและอายุยืนยาว นี่คือเหตุผลที่เราควรหาอิคิไกของตัวเองให้พบเร็วที่สุด

และเราทุกคนไม่เคยสายเกินไปที่จะเริ่มมองหาอิคิไก

ตัวอย่างคนที่พบอิคิไกของตัวเอง

Jiro Ono

เขาเป็นที่รู้จักในฐานะเชฟซูชิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ชีวิตของเขาได้ถูกสร้างเป็นสารคดี ใน Netflix ที่สร้างแรงบันดาลใจที่ชื่อว่า “Jiro Dreams of Sushi” เขาเริ่มทำงานในร้านอาหารซูซิตั้งแต่อายุ 7 ขวบ จนถึงปัจจุบันเขาอายุ 96 ปีแล้ว แต่เขาก็ยังทำงานอยู่

เขายังทุ่มเทอย่างเต็มที่ไม่เพียงแต่รักษาการทำซูซิไว้เท่านั้น แต่ยังพยายามพัฒนามันให้ดียิ่งขึ้นด้วย

blank

เขาอุทิศชีวิตในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคนิคการทำซูซิให้ออกมาสมบูรณ์แบบมากที่สุด เขาเปิดร้านซูซิขนาดเล็ก ๆ ที่นั่งได้เพียง 10 ที่นั่งในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

เซฟ Jiro Ono ได้รับคะแนะระดับมิชลินสูงสุดคือ 3 ดาวอีกด้วย และถูกยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นเชฟซูซิที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก

ในสารคดีเขาพูดเกี่ยวกับชีวิตและการทำงานของเขาไว้ว่า “คุณต้องตกหลุมรักงานของคุณ อุทิศชีวิตของคุณเพื่อฝึกฝนทักษะ ผมจะพยายามไปให้ถึงจุดสูงสุด แม้ไม่มีใครรู้ว่าจุดสูงสุดนั้นมันอยู่ตรงไหน”

นี่เป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่ค้นพบอิคิไกของตนเอง เขาอุทิศตนให้กับสิ่งที่รัก พยายามฝึกฝนพัฒนาให้เชี่ยวชาญ ใส่ใจทุกรายละเอียดอย่างปราณีต เพื่อมอบซูซิที่อาหารเป็นเลิศ และดีที่สุดให้แก่ผู้คน

Jane Goodall

เธอเป็นนักวานรวิทยา (วิชาว่าด้วยการศึกษาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชั้นสูงสุดได้แก่ ลิงและคน) ที่มีชื่อเสียงระดับโลก

Jane Goodall มีความหลงใหลในสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาตั้งแต่ยังเด็ก ในช่วงอายุ 20 ต้น ๆ เธอตัดสินใจไล่ตามความหลงใหล โดยเขียนจดหมายถึง Louis Leakey นักมานุษยวิทยา ซึ่งเขาคิดว่าการศึกษาลิงในยุคปัจจุบันจะให้เบาะแสเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ Jane สนใจ นั่นคือบรรพบุรุษของมนุษย์ในยุคแรก ๆ

blank

ด้วยความช่วยเหลือของ Louis Leakey ก็ทำให้ Jane ได้ศึกษา ใกล้ชิดกับลิงในป่ามาตลอดทั้งชีวิต เธอมีทักษะสูงในการทำงานอย่างใกล้ชิดกับลิง เธอบันทึกความเฉลียวฉลาดและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของพวกมัน นอกจากนี้ เธอยังเป็นผู้สนับสนุนสิทธิสัตว์ คอยช่วยเหลืองลิงและสัตว์อื่น ๆ จากการทดลองที่เป็นอันตรายและกลุ่มคนที่จ้องจะทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของพวกมัน เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เหล่านั้นสูญพันธุ์

ด้วยความหลงใหลของเธอ เป็นเวลากว่า 60 ปี เธอกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้ มีความรอบรู้ และสั่งสมประสบการณ์มาอย่างยาวนาน และหาเลี้ยงชีพกับมันได้

“แทบตลอดเวลา ฉันพบว่าตัวเองกำลังคิด คิดว่านี่คือที่ที่ของฉัน นี่คือเหตุผลที่ฉันเกิดมาบนโลกใบนี้ เพื่อทำมัน” – Jane Goodall

หรือตัวอย่างคนอื่น ๆ

  • อาจารย์คาราเต้อายุ 102 บอกว่าอิคิไกของเขาคือการรักษาศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้เอาไว้
  • ชาวประมงอายุร้อยปีบอกว่าเขาพบอิคิไกในการออกไปจับปลาสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพื่อนำมาเป็นอาหารให้ครอบครัว
  • หญิงชราอายุ 102 ปี บอกว่าอิคิไกของเธอคือการได้อุ้มลูกของเหลนสาวของเธอ

5 เสาหลักอิคิไก

นอกจากการตอบคำถาม 4 ข้อหลักแล้ว ยังมีอีก 5 เสาหลักที่จะช่วยส่งเสริมอิคิไกของเรา ซึ่งแนวคิดนี้มาจาก Ken Mogi นักประสาทวิทยาและผู้เขียนหนังสือ Awakening Your Ikigai เขาแนะนำให้เราโฟกัสไป 5 เสาหลัก

  1. เริ่มต้นเล็ก

เวลาจะเริ่มอะไรให้คิดเหมือนทารก การบรรลุเป้าหมายใด ๆ ต้องใช้เวลา ค่อย ๆ ก้าวไปทีละขั้น คนญี่ปุ่นเข้าใจดีว่าไม่มีทางที่จะบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบได้ และพวกเขาให้คุณค่ากับกระบวนการ ความพยายาม ความทุ่มเท

  1. ยอมรับตัวเอง

การยอมรับตัวเองเป็นหนึ่งในงานที่สำคัญและยากที่สุดที่เราต้องเผชิญในชีวิต แต่แท้จริงแล้วมันเป็นหนึ่งในสิ่งที่คุ้มค่าที่เราสามารถทำเพื่อตัวเองได้

การปลดปล่อยตัวเองเป็นการค้นหาความสุขผ่านการยอมรับ จงยอมรับความเป็นตัวของตัวเอง และเลิกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น แล้วเราจะสามารถดำเนินชีวิตตามวิถีของตัวเองได้อย่างสบายใจ

  1. เชื่อมต่อกับโลกรอบตัวคุณ

ความยั่งยืนไม่ได้มีเพียงแค่มนุษย์กับธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกิจกรรมที่เรามีกับสังคมด้วย

แม้ว่าทุกวันนี้เราอยู่ในสังคมที่อยู่คนเดียวได้ แต่ยังไงเราก็ต้องพึ่งพาคนอื่น ทุกสิ่งที่เราทำมีผลกระทบต่อชีวิตของคนอื่น

  1. แสวงหาความสุขเล็ก ๆ

ลองเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการสัมผัสสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วรู้สึกซาบซึ้งไปกับมัน ชื่นชม มีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน ดื่มด่ำ มีความสุขกับชาสักถ้วย กาแฟสักถ้วย การได้นั่งมองดอกไม้

สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้ชีวิตเรามีความสุขคืออะไร? ลองค้นหามันดู

  1. อยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้

นี่อาจฟังดูง่าย แต่ในความเป็นจริง เป็นสิ่งที่ยากที่สุด เรามักจะคิดเกี่ยวกับอดีตและอนาคต อยู่ตลอดเวลา จนหลงลืมขณะปัจจุบัน

แต่ความสุขจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการอยู่กับปัจจุบัน จงให้ความสำคัญกับปัจจุบันขณะ เพลิดเพลินกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ณ ตอนนั้น ลองจากเวลากินอาหาร ให้ลองสัมผัสถึงรสชาติที่อาหารเข้ามาสัมผัสกับลิ้นของเรา

ตอนนี้เราได้รู้ 5 เสาหลักที่จะช่วยส่งเสริมอิคิไกและชีวิตมีความสุข มีความหมาย ก็ถึงเวลาให้เราลองค่อย ๆ ฝึกในแต่ละข้อ แล้วเราจะเข้าใกล้อิคิไกมากขึ้น และต่อไปจะเป็นกฎ 10 ข้อของอิคิไก

10 กฎของอิคิไก (Ikigai)

กฎอิคิไกทั้ง 10 ข้อนี้มีที่มาจากนักเขียนชื่อ Héctor García และ Francesc Miralles ที่ได้เขียนแบ่งปันทั้ง 10 กฎนี้ไว้ในหนังสือ IKIGAI: The Japanese Secret To a Long and Happy Life หรือแปลไทย อิคิไก: ความลับของชาวญี่ปุ่นสู่ชีวิตที่ยืนยาวและมีความสุข

ผู้เขียนได้ทำการศึกษาชีวิตของผู้ที่อายุยืนยาวที่อาศัยอยู่หมู่บ้านเล็ก ๆ ในโอกินาวา เพื่อเข้าใจว่าอะไรคือเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้พวกเขาอายุยืนยาว ซึ่งค้นพบว่าอิคิไกคือส่วนหนึ่งในนั้น

แต่ทั้ง 10 กฎนี้ไม่ใช่กฎที่ต้องปฏิบัติตามเพื่อให้ได้อิคิไก แต่เป็นคำแนะนำหรือนิสัยที่เราสามารถนำไปใช้เพื่อปรับปรุงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เพื่อให้เราค้นพบเป้าหมายในชีวิต และใช้ชีวิตตามอิคิไกของตัวเองได้

1

แอคทีฟตลอดเวลา และอย่าเกษียณ

กฎของอิคิไก (Ikigai) แอคทีฟตลอดเวลา และอย่าเกษียณ

การค้นหาคุณค่าของชีวิตไม่ได้ถูกกำหนดเฉพาะในช่วงเวลาของชีวิตการทำงานเท่านั้น แม้ชีวิตการทำงานจะสิ้นสุดแล้ว ก็จงแสวงหากิจกรรมทำต่อไป กิจกรรมที่ช่วยให้เรารู้สึกมีคุณค่าและมีเป้าหมายในชีวิต ซึ่งไม่ใช่เพื่อเงิน แต่เพื่อตัวเอง

ร่างกายและจิตใจของเรานั้นฉลาด ทันทีที่สูญเสียเป้าหมาย และเกษียณหยุดทำงาน พวกมันก็จะเกษียณเช่นกัน มันจะเฉาและไร้เรี่ยวแรง ดังนั้น จงอย่าเกษียณ หาอะไรให้ร่างกายได้ขยับ สมองได้แล่นอยู่ตลอด

2

ค่อยเป็นค่อยไป

ความเร่งรีบแปรผกผันกับคุณภาพของชีวิต ดังคำโบราณที่เคยกล่าวไว้ว่า “เจ้าจงเดินช้า ๆ แล้วจะไปได้ไกล”

เมื่อเราทิ้งวิถีชีวิตที่เร่งรีบไว้เบื้องหลัง ชีวิตและห้วงเวลาก็แปรเปลี่ยน มีชีวิตชีวาและมีความหมาย

หากเรารีบร้อน แสดงว่าเราไม่สามารถควบคุมตัวเองและตกอยู่ภายใต้ความตึงเครียด การทำสิ่งต่าง ๆ ให้ช้าลงหมายความว่าเราต้องมีสติมากขึ้นในการตัดสินใจ เราสามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น

เราสามารถชนะเกมชีวิตได้ด้วยการค่อย ๆ เดินอย่างช้า ๆ อ่อนโยนต่อสิ่งรอบตัว และเต็มไปด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย

สิ่งดี ๆ ในชีวิตต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะ จงมีความอดทน อย่าตอบโต้ตอบทันทีต่อผู้คนและสถานการณ์ และมองภาพระยะยาว

3

อย่ากินมากเกินไป

กฎของอิคิไก (Ikigai) อย่ากินมากเกินไป

腹八分目に医者いらず สุภาษิตญี่ปุ่นที่แปลว่า “กินให้อิ่มเพียง 80% ไม่ต้องพบเจอหมอ”

เพื่อสุขภาพที่ดีและอายุที่ยืนยาว เราควรทานอาหารให้น้อยกว่าที่เราต้องการด้วยการใช้กฎ 80% คือ กินจนกว่าจะรู้สึกอิ่มประมาณ 80% หลังจากนั้นต้องหยุดกิน

สิ่งที่เรากินคือความรู้สึกของที่จะหล่อหลอมเป็นตัวเรา เช่น ถ้าเรากินเพื่อสุขภาพ เราจะคิดว่าสุขภาพดี และรู้สึกสุขภาพดี ในที่สุดเราก็จะสุขภาพดีจริง ๆ ในทางกลับกัน ถ้าเรากินมากเกินไป เรามักจะคิดมาก กังวล และรู้สึกหนักใจค่อนข้างง่าย ในที่สุด สุขภาพแย่ ๆ ก็จะเกิดขึ้นกับเรา

จงกินอาหารที่มีประโยชน์และควรน้อยกว่าความสามารถที่เรากินได้เพียงเล็กน้อยประมาณ 80% แล้วเราจะอายุยืนยาว

4

อยู่ท่ามกลางเพื่อนที่ดี

เพื่อนเป็นยาที่ดีที่สุด สำหรับการบอกเล่าความกังวล แบ่งปันเรื่องราวที่ทำให้วันของเราสดใส

หลายคนอาจจะบอกว่า ชีวิตฉันไม่มีอิคิไกเลย คำตอบนี้ชัดเจน คนที่แยกตัวเองออกจากผู้คน ยากที่จะค้นพบอิคิไกของตนเองได้ เพราะอิคิไกจะพบได้ในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเท่านั้น

หากไม่มีความสัมพันธ์และมิตรภาพ เราก็ไม่สามารถสัมผัสกับความเชื่อมโยง ความใกล้ชิด หรือความรัก และไม่สามารถแบ่งปันความสุข ความหวัง ความทุกข์ ความเสียใจ และความกลัวของเราได้

กฎข้อนี้ทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจถึงความสำคัญของการมีมิตรภาพที่ดี แทนที่จะใช้เวลาอยู่คนเดียว ดูหน้าจอมือถือมากกว่าเจอกับเพื่อน ๆ

เมื่อเราอุทิศเวลาให้กับมิตรภาพ มันจะนำคุณค่าและความหมายมาสู่ชีวิตของเรา

จงห้อมล้อมด้วยคนที่คอยเป็นมิตรต่อจิตใจและร่างกายของเรา คนที่เราอยู่ด้วยแล้วสบายใจ มีความสุข และเราก็ต้องเป็นคนที่ทำคนนั้นอยู่ด้วยสบายใจ และมีความสุขเช่นกัน แล้วเราทั้งสองจะกลายเป็นพลังงานที่ดีของกันและทำ

5

ออกกำลังกายทุกวัน

กฎของอิคิไก (Ikigai) ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ไม่มีของขวัญชิ้นไหนที่ดีไปกว่าที่เราสามารถทำให้ตัวเองเท่ากับการออกกำลังกาย

ร่างกายต้องการการเคลื่อนไหวเพื่อให้รู้สึกว่ายังมีชีวิต เราต้องดูแลร่างกายของตัวเอง ขยับตัวเดินบ่อย ๆ ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ การออกกำลังกายยังหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้เรารู้สึกมีความสุขอีกด้วย และจงทำให้มันเป็นวิถีชีวิตมากกว่าเป้าหมาย

6

ยิ้ม

รู้ไหมว่ายาอะไรที่ดีที่สุดในโลกใบนี้?

คำตอบคือ รอยยิ้ม มันเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการสร้างคลื่นแห่งความสุขในตัวเราและยังสร้างบรรยากาศเชิงบวกให้กับคนรอบข้างด้วย

อย่าพลาดโอกาสที่จะยิ้ม และยิ้มในทุกช่วงเวลาที่ยังมีลมหายใจ ยิ่งเรายิ้มบ่อยแค่ไหน รอยยิ้มนั้นจะมอบความรู้สึกดีและมีความสุขกับตัวเองและชีวิตมากขึ้นเท่านั้น

7

เชื่อมโยงกับธรรมชาติอีกครั้ง

กฎของอิคิไก (Ikigai) เชื่อมโยงกับธรรมชาติ

แม้ในทุกวันนี้คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองเป็นหลัก แต่มนุษย์เราถูกสร้างมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราจึงมีความโหยหาจากภายในที่อยากจะไปเที่ยวธรรมชาติ สัมผัสธรรมชาติกันอยู่เสมอ

การกลับไปเชื่อมโยงกับธรรมชาติ บรรยากาศที่มีแต่ธรรมชาติเปรียบเหมือนการได้ชาร์ทแบตเตอรี่ และช่วยทำให้เรารู้สึกสงบ หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของเรา

ใช้เวลาสักเดือนละครั้ง อาทิตย์ละครั้งออกไปพื้นที่ป่า แม่น้ำ ทะเลหรือสวนสาธารณะที่มีธรรมชาติ ไปสัมผัสมัน ได้รับกลิ่นมัน ไปฟังเสียงมัน แล้วเราจะรู้เหมือนได้เยียวยาภายใน พร้อมกลับมาต่อสู้กับชีวิตที่วุ่นวายอีกครั้ง

8

ขอบคุณ

การใช้เวลาในแต่ละวันเพื่อขอบคุณ จะทำให้เราซาบซึ้งกับสิ่งดี ๆ รอบตัวแม้เล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ง่ายขึ้น และชื่นชมผู้คน สถานการณ์ ความสำเร็จตลอดจนความล้มเหลว พวกเขาทั้งหมดหล่อหลอมเราให้เป็นเราในวันนี้

นับตั้งแต่วันนี้ จงใช้เวลาในทุก ๆ วัน เพื่อกำหนดทัศนคติที่ซาบซึ้งต่อทุกสิ่งในชีวิต ค้นหาความงามในทุกสิ่ง แม้สิ่งนั้นจะเล็กน้อยมากแค่ไหนก็ตาม แล้วจะเห็นความสุขในชีวิตที่เพิ่มขึ้น

“ขอบคุณ” ควรเป็นคำที่เราใช้มากที่สุด

9

อยู่กับปัจจุบัน

กฎของอิคิไก (Ikigai) อยู่กับปัจจุบัน

ตั้งแต่วินาทีที่เราตื่นนอนจนถึงเวลาที่เราหลับไป เรากำลังดำเนินบทสนทนาภายในกับตัวเองอย่างต่อเนื่อง จิตของเราเคลื่อนจากความกังวลหนึ่งไปสู่อีกความกังวลหนึ่ง และเราลืมที่จะรับรู้ปัจจุบันขณะ

เมื่อเรานึกถึงที่นี่และตอนนี้ เราจะกังวลน้อยลงเกี่ยวกับอนาคตและจดจ่อกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานน้อยลง

อดีตควรจำไว้เป็นบทเรียนและความทรงจำที่มีความสุขเท่านั้น และอย่าให้ความกังวลในอนาคต มาพรากความสุขของตอนนี้

จงมีสติ และมีชีวิตอยู่ในแต่ละขณะ หยุดเสียใจกับอดีตและกลัวอนาคต วันนี้คือทั้งหมดที่เรามี ใช้ประโยชน์สูงสุดจากมัน ให้มีค่าควรแก่การจดจำ

10

เดินตามหาอิคิไกของตัวเอง

มีความหลงใหลในตัวคุณ พรสวรรค์ที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งให้ความหมายกับวันของคุณ และผลักดันให้คุณแบงปันสิ่งที่ดีที่สุดของตัวเองให้แก่ผู้อื่นจนวันสุดท้าย สิ่งเหล่านี้เรียกว่า อิคิไก (Ikigai)

แต่ถ้าเรายังไม่รู้ว่าอิคิไกของตัวเองคืออะไร ไม่ต้องเสียใจ มันเป็นภารกิจของเราทุกคนที่ต้องค้นพบมันให้เจอ


กฎ 10 ข้อของอิคิไกเป็นเครื่องเตือนใจว่าเราสามารถออกแบบชีวิตที่เต็มไปด้วยคุณค่าและความหมายและจุดประสงค์ได้

ถ้าเราทำกฎเหล่านี้ตั้งแต่วันนี้ รับรองว่าชีวิตเราจะมีความสุขมากขึ้นอย่างแน่นอน และไม่จำเป็นต้องทำทีเดียวทั้งหมด อาจจะจับมาสักข้อแล้วนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันของเรา

3 ขั้นตอนค้นหาอิคิไก

ขั้นตอนที่ 1 ตั้งคำถาม

วิธีที่ง่ายที่สุดคือ การตั้งคำถามกับตัวเองจะช่วยให้เราพบเส้นทางอิคิไกของตนเองได้

ลองใช้เวลาเพื่อถามตัวเองด้วยคำถามหลัก 4 ข้อ และจงซื่อสัตย์ในคำตอบของตัวเอง

1. ฉันรักที่จะทำอะไร?

  • เรามีความฝัน หรือสิ่งที่อยากจะทำสักครั้งในชีวิตไหม?
  • อะไรที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรา?
  • อะไรที่เราทำแล้วไม่เคยเบื่อ?
  • อะไรทำให้เรายิ้มและมีความสุขได้?
  • เป้าหมายในชีวิตของเราคืออะไร?
  • ตอนไหนที่เรารู้สึกมีความสุขที่สุด?
  • มีสิ่งไหนที่เราทำจนลืมวันเวลา?
  • อะไรที่ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น หัวใจเต้นแรง กระปรี้กระเปร่า?
  • มีสิ่งไหนที่ทำอยู่ และจะทำต่อแม้ไม่ได้เงิน?
  • เราอยากเรียนรู้อะไรที่ยังไม่รู้?

2. สิ่งที่โลกต้องการคืออะไร?

  • เราสามารถทำอะไรหรือเสนออะไรที่จะให้คุณค่าแก่ผู้อื่นได้บ้าง
  • เราจะช่วยเหลือผู้อื่นได้ยังไง?
  • เราอยากช่วยแก้ปัญหาอะไรในสังคม?
  • โลกใบนี้ยังขาดอะไร?
  • เราอยากสร้างผลกระทบอะไรต่อผู้คนและโลกใบนี้ อยากทิ้งอะไรเป็นมรดกให้ลูกหลาน?
  • ใครหรืออะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เราได้บ้าง?
  • อะไรที่ทำให้เราโกรธหรือผิดหวังที่สุดกับโลกใบนี้?
  • เราอยากมอบของขวัญพิเศษอะไรให้แก่โลกใบนี้?

3. สิ่งที่มีคนยอมจ่ายคืออะไร?

  • เราสามารถทำงานอะไรได้บ้าง? ลองนึกถึงสิ่งที่เราสามารถสอนคนอื่นได้ งานทั้งหมดที่เคยทำมาก่อน และทักษะที่สามารถใช้และถ่ายทอดได้
  • เราสามารถขายอะไรได้บ้าง? ลองนึกถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สามารถสร้างและขายได้ มันจะแก้ปัญหาอะไร? มันจะตอบสนองความต้องการอะไร? ใครจะซื้อ?
  • มีคนรอบตัวเรา สนใจจ่ายเพื่อให้เราทำอะไรบางอย่างให้หรือไม่?

4. ฉันเก่งเรื่องอะไร?

  • ผู้คนเข้าหาเราเพื่อขอช่วยเหลือเรื่องเกี่ยวกับอะไร?
  • ทักษะหรือพรสวรรค์ไหนที่คิดว่ามันอยู่ในตัวเรา
  • เราทำอะไรได้ดี โดยไม่ต้องใช้ความพยายามเลย?
  • อะไรคือสิ่งที่เรารู้สึกว่าทำได้ง่าย?
  • ลองถามเพื่อน เพื่อนร่วมงานหรือครอบครัวดูว่า พวกเขาคิดว่าอะไรคือจุดแข็งของเรา?

ลองใช้คำถามเหล่านี้เป็นแนวทางเพื่อค้นหาอิคิไกของตัวเราเอง ถามตัวเองบ่อย ๆ ให้มันฝังเข้าไปในหัว เวลาเราทำอะไร ก็พยายามนึกคำถามเหล่านี้ แล้วเราจะค่อย ๆ พบคำตอบ

ขั้นตอนที่ 2 เชื่อมโยงคำตอบ

ให้รวมแต่ละข้อตามข้างล่างนี้ แล้วเราจะเห็นการเชื่อมโยงบางอย่าง แล้วจะพบว่าเราเข้าใจตัวเองมากขึ้น เราจะเห็นแนวคิด ค่านิยม ความเชื่อของตนเอง

  • รวมคำตอบของข้อ 1 (สิ่งที่รัก) + 2 (สิ่งที่โลกต้องการ) = ภารกิจ (Mission)
  • รวมคำตอบของข้อ 2 (สิ่งที่โลกต้องการ) + 3 (สิ่งที่คนยอมจ่าย) = อาชีพ (Vocation)
  • รวมคำตอบของข้อ 3 (สิ่งที่คนยอมจ่าย) + 4 (สิ่งที่เก่ง) = ความชำนาญ (Profession)
  • รวมคำตอบของข้อ 4 (สิ่งที่เก่ง) + 1 (สิ่งที่รัก) = ความหลงใหล (Passion)

เมื่อระบุทั้ง 4 ข้อได้แล้ว ให้ลองเขียนคำตอบออกมาว่า ภารกิจ (Mission) อาชีพ (Vocation) ความชำนาญ (Profession) และความหลงใหล (Passion) ของเราคืออะไร

เช่น

  • สิ่งที่รัก (การเขียน) + สิ่งที่โลกต้องการ (ได้อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์) = ภารกิจ (เขียนหนังสือที่มีข้อมูลเป็นประโยชน์ให้คนได้อ่าน)
  • สิ่งที่โลกต้องการ (ได้อ่านข้อมูลที่มีประโยชน์) + สิ่งที่คนยอมจ่าย (ซื้อหนังสือเพื่อได้อ่านข้อมูลที่เป็นประโยชน์) = อาชีพ (นักเขียน)
  • สิ่งที่คนยอมจ่าย (ซื้อหนังสือเพื่อได้อ่านข้อมูลที่เป็นประโยชน์) + สิ่งที่เก่ง (การเขียนเล่าเรื่องให้คนอ่านเข้าใจได้ง่าย ๆ) = ความชำนาญ (เล่าเรื่องเก่ง)
  • สิ่งที่เก่ง (การเขียนเล่าเรื่องให้คนอ่านเข้าใจได้ง่าย ๆ) + สิ่งที่รัก (การเขียน) = ความหลงใหล (เขียนเล่าเรื่องให้คนเข้าใจง่าย ๆ และได้รับประโยชน์)

ขั้นตอนที่ 3 สรุป

ขั้นตอนสุดท้ายคือการนำเอาทั้ง 4 ข้อมารวมกันในหนึ่งประโยคหรือย่อหน้าเล็ก ๆ เพื่อมองเชื่อมโยงทั้งหมดเข้าด้วยกัน เช่น “ฉันรักที่จะเขียนโดยใช้ความเก่งของตัวเองในการเล่าเรื่องให้คนอ่านเข้าใจได้ง่าย ๆ ซึ่งข้อมูลที่ฉันเขียนนั้นจะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ และเปลี่ยนแปลงผู้คนได้ และฉันสามารถทำมันเป็นอาชีพคือ การเป็นนักเขียนได้ และมีคนยอมจ่ายเพื่อซื้อหนังสือของฉัน”

กระบวนทั้ง 3 นี้อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังอยู่ในช่วงไหนของชีวิต สิ่งสำคัญที่สุดคือ ถ้าเราค้นพบจุดตรงกลางที่รวมทั้ง 4 ข้อด้วยกันได้นั้น เรียกได้ว่าเราได้ค้นพบอิคิไกของตัวเองแล้ว แล้วชีวิตหลังจากนั้น ทุกการตื่นตอนเช้าของเรา เราจะอยากตื่นมาเพื่อเร่งรีบไปทำมัน

บทสรุป

เคล็ดลับสู่ชีวิตที่ยืนยาวและมีความสุขคือการใช้ชีวิตอย่างจุดมุ่งหมาย ซึ่งขั้นตอนแรกในการใช้ชีวิตอย่างมีจุดมุ่งหมายคือการเข้าไปควบคุมชีวิตของตัวเอง ซึ่งแนวคิดของอิคิไกเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยให้เราทำสิ่งนี้

จงค้นหาอิคิไกของตัวเองให้พบเร็วที่สุด แม้มันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่มันคุ้มค่าที่เราจะพยายามค้นหาอิคิไกของตัวเอง

แล้วชีวิตที่เหลือของเราในทุก ๆ วันจะมีเติมเต็มและมีความสุข และที่สำคัญไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต ตราบใดที่เรายังมีอิคิไก ชีวิตเราจะผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากได้ เพราะอิคิไกจะเป็นเหมือนบ้านที่ปลอดภัย ที่ไว้เยียวทุกอย่างในชีวิตของเรา

ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นแรงบันดาลให้เพื่อน ๆ ค้นพบอิคิไกในชีวิตของตัวเอง

ขอให้มีชีวิตที่มีความสุขและมีความหมายครับ! 🙌

อ่านจบแล้ว รู้สึกยังไงบ้าง ช่วยบอกเราหน่อยครับ 🙏
21 responses
OMG
OMG
5
Love
Love
13
Like
Like
3
Sad
Sad
0
Dizzy
Dizzy
0
Sleepy
Sleepy
0