10 บทเรียนเรื่องการเงินที่โรงเรียนไม่เคยสอน

10 เรื่องการเงินที่สำคัญ แต่โรงเรียนไม่เคยสอน

พวกเราทุกคนล้วนเคยได้ยินเรื่องราวว่า ในระบบการศึกษาแทบไม่เคยสอนอะไรเกี่ยวกับการเงินในแบบโลกของความเป็นจริงเลย ซึ่งเป็นเรื่องจริง

ตอนนี้เรามีช่อง YouTube แล้ว! Podcast สำหรับคนรักหนังสือและการพัฒนาตัวเอง ใครสนใจ อย่าลืมไปติดตามกันได้นะครับ : ) 🙏
blank
ตอนนี้เรามีช่อง YouTube แล้ว! Podcast สำหรับคนรักหนังสือและการพัฒนาตัวเอง ถ้าเพื่อน ๆ กดติดตาม ผมจะรู้สึกดีมากครับ
blank

น่าเสียดายที่ระบบการศึกษามักจะมองข้ามเรื่องการเงิน และมักจะสอนเด็ก ๆ ว่า “ตั้งใจเรียนนะ โตขึ้นได้มีงานดี ๆ มีเกียรติ มีเงินเดือนเยอะ ๆ” (ผมว่าเราทุกคนคงจะเคยได้ยินอะไรแบบนี้)

แต่กลับไม่เคยสอนเลยว่าเมื่อได้เงินมา ควรจะทำยังไงกับเงินเหล่านั้นต่อ

ทั้ง ๆ ที่เงินสามารถส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและความสุข ความทุกข์ของเรามากที่สุด

ในหนังสือวิธีชนะทุกข์และสร้างสุขของเดล คาร์เนกีได้บอกไว้ว่า จากการสำรวจ “ความทุกข์ 75% ของเรามาจากเรื่องเงิน”

ดังนั้น เงินเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจเป็นอันดับแรก ๆ ของชีวิต และสิ่งที่น่าตกใจคือแทบจะ 100% ความรู้ด้านการเงิน เราทุกคนต้องมาเรียนรู้ศึกษาเองที่นอกโรงเรียนทั้งนั้น

ในบทความนี้ ผมจึงได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ รวมถึงจากประสบการณ์ส่วนตัวกลั่นออกมาทั้งหมด 10 บทเรียนเรื่องการเงินที่ระบบการศึกษามักไม่สอน แต่มีความสำคัญและควรเรียนรู้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

“ความเชื่อ และความรู้ที่ถูกต้องเป็นตัวกำหนดผลลัพธ์การทางเงินของเรา”

10 บทเรียนเรื่องการเงินที่โรงเรียนไม่เคยสอน

1

เงินเป็นแค่เครื่องมือ

เรามักถูกปลูกฝังความเชื่อเก่า ๆ ว่า เงินมันคือปีศาล คือสิ่งเลวร้าย อย่าหน้าเงินนักเลย สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้ผู้คนจำนวนมากมีเกลียดและอคติกับเงิน ผลที่เกิดขึ้นคืออะไรรู้ไหมครับ พวกเขาแทบจะไม่มีทางที่จะมีมั่งคั่งได้เลย เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะเพิ่มพูนในสิ่งที่พวกเขาเกลียด

สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่ความเชื่อ แต่แท้จริงแล้วนั้น เงินเป็นแค่เครื่องมือ (Tool) เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนคุณค่า

เงินโดยตัวมันนั้นเป็นแค่สะพานผ่านไปสู่สิ่งที่เราต้องการ แค่นั้นจริง ๆ

เงินสามารถทำให้เราได้ในสิ่งที่ต้องการ พาเราไปในสถานที่เราอยากไป ทำในสิ่งที่เราอยากทำได้ แต่ถ้าหากไม่มีสิ่งที่ต้องการหรือสถานที่เราไปหรือสิ่งที่เราอยากทำ เงินก็จะไม่มีค่าอะไรเลย

ดังนั้น เงินจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อเรานำมันเอาไปใช้เพื่ออะไร ซึ่งหมายความว่า เงินสามารถที่จะเป็นคุณและเป็นโทษได้ ขึ้นอยู่กับคนและวิธีที่คนนั้นนำมันไปใช้

อย่ารู้สึกผิดที่อยากจะมีเงินเยอะ ๆ เพราะการมีเงินเยอะนั้นหมายถึงมันขยายศักยภาพของเราให้ทำอะไรได้มากขึ้น เราจะช่วยเหลือครอบครัวได้มากขึ้น ช่วยเหลือคนที่รักได้มากขึ้น และช่วยเหลือผู้คนได้มากขึ้น

“เงินเป็นเพียงเครื่องมือ ที่จะพาคุณไปทุกที่ที่คุณต้องการ แต่มันจะไม่สามารถแทนที่คุณในฐานะคนขับได้” – Ayn Rand

2

ความมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้น

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เคยพูดเกี่ยวกับดอกเบี้ยทบต้นไว้ว่า “ดอกเบี้ยทบต้นเป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับที่ 8 ของโลก ใครที่เข้าใจมัน ย่อมได้รับประโยชน์ ใครที่ไม่เข้าใจ ก็จะพลาดโอกาสไป”

ดอกเบี้ยทบต้น (Compound Interest) ภาษาง่าย ๆ มันคือก็การเราเอาเงินก้อนหนึ่งไปลงทุนไว้แล้วได้รับดอกเบี้ยหรือผลกำไร จากนั้นก็นำดอกเบี้ยนั้นโยนใส่เงินก้อนเดิมไปเรื่อย ๆ จนมันทวีคูณ

เช่น เราลงทุนเงินต้นรอบแรก 50,000 บาท และลงทุนเพิ่มทุกเดือน เดือนละ 5,000 บาท ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% ต่อ 1 ปี แล้วก็โยนกำไรกลับเข้าไปรวมเงินต้นโดยไม่มีการถอนมาใช้ ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึง 30 ปี แล้วความมหัศจรรย์ของพลังดอกเบี้ยทบต้นจะปรากฎ

บทเรียนเรื่องการเงินที่โรงเรียนไม่เคยสอน - ความมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้น
ภาพการคำนวณดอกเบี้ยทบต้น

ในภาพเราจะพบว่า สีเขียวคือ พลังของดอกเบี้ยทบต้น มันจะเริ่มค่อย ๆ ทรงพลังขึ้น หลังจากนั้นคือความมหัศจรรย์ได้ปรากฎ ดูอย่างในปีที่ 30 แท่งเขียว (ดอกเบี้ย) แทบจะ 10 เท่าของเงินต้น

โดยสรุป เงินเราลงทุนไป 1,850,000 บาท ผลกำไรหรือดอกเบี้ยได้กลับมา 10,541,495 บาท

ใครอยากเข้าไปทดลองทำสามารถเข้าไปได้ที่นี่ครับ > Nerdwallet (แนะนำให้ไปลองทำครับ แล้วเราจะสัมผัสถึงยอดเงินในฝันของเรา แล้วจะเกิดแรงบันดาลใจ และความหวังครับ)

3 ปัจจัยที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยทบต้น

  1. เวลา ยิ่งนานดี (รักษาสุขภาพไว้ อยู่ให้นาน)
  2. ใส่เงินสม่ำเสมอ (ยิ่งเพิ่มเงินในแต่ละเดือนมากเท่าไหร่ ยิ่งดี)
  3. สร้างผลตอบแทนให้ได้มากที่สุด (ศึกษาหาความรู้ให้เลือกสินทรัพย์ได้เก่ง)

สิ่งนี้สอนอะไรเรา มันบอกว่า “ยิ่งลงปล่อยเงินไปลงทุนเพื่อได้รับดอกเบี้ย แล้วทบต้นมันไปนานแค่ไหน มันยิ่งจะทรงพลังมากขึ้นเท่านั้น”

ทุกครั้งที่กำลังจะตัดสินใจซื้ออะไร ให้พึงระลึกไว้เสมอว่า ถ้าเงินนี้นำไปลงทุนเพื่อให้ดอกเบี้ยทบต้นทำงานจะดีกว่าไหม? มันจะช่วยให้เราตัดสินใจเรื่องการเงินได้อย่างมีเหตุผลมากยิ่งขึ้น

จากประสบการณ์ส่วนตัว มุมมองเรื่องการเงิน ผมเปลี่ยนเมื่อรู้จักดอกเบี้ยทบต้น

ยิ่งเรียนรู้เกี่ยวกับดอกเบี้ยทบต้นได้เร็วเท่าไร แสดงว่าเราได้พบขุมทรัพย์ที่จะทำเงินงอกเงยแล้ว

“ความมั่งคั่งของผมมาจากการผสมผสานระหว่างการอยู่ในอเมริกา พันธุกรรมที่ดี และดอกเบี้ยทบต้น – Warren Buffett

3

สร้างนิสัยจดบันทึกทุกการใช้จ่าย

นิสัยการจดบันทึกรายรับ รายจ่ายของตัวเองอย่างสม่ำเสมอเพียงนิสัยเดียว สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตด้านการเงินเราได้

คนส่วนใหญ่มักไม่รู้สถานะทางการเงินของตัวเอง เพราะพวกเขาไม่เคยจดบันทึกหรือติดตามการใช้จ่ายหรือการเก็บเงิน

ทุกบาททุกสตางค์ที่ได้รับและใช้จ่ายออกไป เราต้องบันทึกไว้ทั้งหมด แนะนำให้บันทึกไว้ใน Google Sheet (ผมทำมาตลอด) โดยแบ่งเป็นรายวันแล้วรวมยอดสรุปทุกเดือน หรือใช้ App ในมือถือก็ได้

สิ่งที่จะเราจะได้จาการจดบันทึกการใช้จ่ายของตัวเองคือ

  1. เราจะเห็นคุณค่าของเงินมากขึ้น
  2. เราจะรู้ว่า ณ ตอนนี้สถานะทางการเงินของเรากำลังจะไปในทิศทางไหน
  3. เราจะเห็นนิสัยการใช้เงิน ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นได้

การรู้ว่าเราใช้เงินไปเท่าไหร่และกับอะไร เป็นขั้นตอนแรกในการควบคุมการเงิน และเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการบริหารการเงินของตัวเอง ดังนั้นไม่ว่าจะยังไง ควรจัดสรรเวลาในการจดบันทึกทุกการใช้จ่ายของตัวเองด้วย

4

ให้เงินทำงาน

ในโรงเรียน เรามักจะถูกสอนว่า ต้องเก็บหอมออมลิดนะ ออมเงินให้มาก ๆ นะ แน่นอนว่านี่เป็นถูกต้อง แต่แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่เราต้องทำคือ เราต้องต่อยอดการออมนั้นโดยการนำเงินไปลงทุนต่อเพื่อสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนในระยะยาว

เราต้องทำมากกว่าแค่การประหยัด อดออม แต่ต้องเรียนรู้ที่จะทำให้เงินงอกเงย ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือ การลงทุน

การลงทุนคือการให้เงินทำงานแทนเรา

10 เรื่องการเงินที่สำคัญ แต่โรงเรียนไม่เคยสอน

แล้วการออมกับการลงทุนต่างกันยังไง?

การออมเงินหมายถึงการเก็บรายได้ส่วนหนึ่งไว้ใช้ในอนาคต ในขณะที่การลงทุนคือการใช้เงินเพื่อไปซื้อสินทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนในอนาคตได้

แน่นอนว่าการออมมีความสำคัญต่อความสำเร็จทางการเงิน เพราะมันช่วยให้เรามีเงินสดในมือ สามารถหยิบมาใช้ได้ตลอดเมื่อฉุกเฉิน แต่หัวใจคือ เราต้องไม่หยุดเพียงแค่ออมเงิน เราไม่มีทางรวยได้จากการออม เช่น การฝากเงินในธนาคารที่มีอัตราดอกเบี้ยให้น้อยนิด แทบจะไม่ชนะเงินเฟ้อด้วยซ้ำ ซึ่งหมายความว่า ยิ่งออม มูลค่าของเงินก็จะยิ่งเสียไปมากขึ้นเท่านั้น

เช่น เก็บเงิน 100 บาท อีก 5 ปีข้างหน้าเงิน 100 บาท จะไม่ได้มีมูลค่าเท่าเดิม เราอาจจะซื้อของได้น้อยลงด้วยจำนวนเงินเท่าเดิม เพราะราคาของสินค้าจะสูงขึ้น แต่มูลค่าของเงินจะลดน้อยลงเรื่อย ๆ เสมอ

ไม่มีเศรษฐีคนไหนรวยด้วยการออมเงิน

การลงทุนจึงเป็นทางออก เพราะสินทรัพย์จะมีมูลค่าสูงขึ้นเสมอ ถ้าเราเลือกสินทรัพย์ลงทุนที่ถูกต้อง และทุกคนสามารถเลือกลงทุนได้ ไม่ว่าจะมีเงินจำนวนน้อยหรือมากแค่ไหน

ตัวอย่างการลงทุน

  • ลงทุนในสินทรัพย์ที่ชื่อว่า “ตัวเอง” (เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด)
  • ลงทุนในตลาดหุ้น
  • ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

มี 2 วิธีที่อยากแนะนำ ขึ้นอยู่กับความต้องการว่าเราอยากมีอิสรภาพเร็วแค่ไหน

  1. แบบทั่วไป: รายรับ → ใช้จ่าย → ลงทุน
  2. แบบเร่งด่วน: รายรับ → ลงทุน → ใช้จ่าย
5

สิ่งที่รักษาไว้สำคัญกว่าสิ่งที่ได้รับ

คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเงินเดือนของพวกเขา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีที่เราจะให้ความสนใจรายได้ แต่สิ่งสำคัญไม่ใช่ว่าเรามีรายได้เท่าไหร่ แต่เมื่อเราได้รับรายได้นั้นมา เราเก็บรักษาเงินไว้ให้เงินก้อนนั้นอยู่กับเราได้มากเท่าไหร่

ถึงแม้เราจะมีรายได้ 100,000 บาทต่อเดือน แต่ถ้าค่าใช้จ่ายเรา 95,000 บาท ก็แทบไม่มีประโยชน์อะไร

รวยหรือจน หาเงินมาได้มากเท่าไหร่ ไม่ได้ทำให้เกิดความแตกต่างมากเท่ากับเราใช้เงินที่หามาหาได้อย่างไร ทางเลือกเป็นของเรา

6

สร้าง Mindset เรียนรู้การเงิน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตั้งแต่เกิดเผ่าพันธุ์มนุษย์เรา เงินตราหรือสิ่งแลกเปลี่ยน เปลือกหอย เงินกระดาษเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดในการดำรงชีวิต เพราะมันจะแทรกเข้าไปในทุกส่วนของชีวิต เกี่ยวโยงกับทุกด้านที่เกิดขึ้นในชีวิต

การเงินจึงเป็นหนึ่งในทักษะชีวิต (Life Skills) ที่สำคัญ และเป็นสิ่งที่เราควรต้องเรียนรู้ และต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต

ดังนั้น เราต้องอุทิศเวลาเพื่อศึกษาหาความรู้ด้านการเงิน การลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เช่น อ่านบทความด้านการเงิน หาหนังสือการเงินมาอ่านสักเล่ม ฟังพอดแคสต์เรื่องการเงิน ทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

ถ้ารู้จักใครที่เชี่ยวชาญเรื่องเงิน ให้ลองขอคำปรึกษา ความรู้กับพวกเขา ซึมซับความรู้ของพวกเขา และดูว่าเราจะสามารถนำความรู้เหล่านั้นไปใช้กับการเงินของเราเองได้ยังไง

เพราะยิ่งเราเรียนรู้มากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งเก่งขึ้นมากเท่านั้น และยิ่งเราเก่งขึ้นมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งพร้อมรับมือสำหรับทุกอุปสรรคทางการเงินที่จะเข้ามาหาเราได้มากขึ้นเท่านั้น

ผมยังจำคำของพี่หนุ่ม Money Coach ในหนังสือ Money 101 พี่หนุ่มได้เขียนไว้ว่า “ปัญหาเรื่องเงินไม่ได้แก้ด้วยเงินเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความรู้ทางการเงินที่ถูกต้องด้วย”

และในหนังสือเล่มนั้น พี่หนุ่มได้ให้กรอบความรู้ไว้ 4 ด้านที่เราสามารถเอาหัวข้อเหล่านี้ไปเป็นกรอบในการหาความรู้ได้ คือ ความรู้ด้านการหารายได้ (Earning) การใช้จ่าย (Spending) การออม (Saving) และการลงทุน (Investing)

ความรู้ด้านการเงินเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต โลกเราหมุนไปข้างหน้าและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โลกของการเงินก็เช่นกัน แล้วเราจะไม่พลาดโอกาสดี ๆ

ความไม่รู้มีราคาแพงกว่าความรู้เสมอ

7

ใช้จ่ายให้ต่ำกว่ารายได้เสมอ

กฎข้อหนึ่งที่สำคัญเป็นอันดับแรกที่ต้องทำคือ ใช้จ่ายให้ต่ำกว่ารายรับเสมอ (ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ)

แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แต่หมายถึงอย่าใช้จ่ายเกินตัว

การใช้ชีวิตให้ต่ำกว่ารายได้ของตัวเอง จะทำให้ได้รับอิสรภาพทางการเงินได้ง่ายขึ้น สามารถนำเงินที่เหลือไปลงทุนต่อยอดหรือใช้ซื้อสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมายต่อเราจริง ๆ ได้จริง

สิ่งนี้จะสร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืนและช่วยลดความเสี่ยงในการประสบปัญหาทางการเงิน แล้วเราจะใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจ และมีทางเลือกในชีวิตได้มากขึ้น

ความเครียดในภาวะที่หมุนเงินไม่ทัน หาเงินไม่ทันที่เกิดจากการใช้เงินเกินตัว เครียดและทุกข์อย่างมาก อย่าให้มันเกิดขึ้นกับเราเลย

8

จ่ายเงินให้ตัวเองก่อน

blank

แนวคิดเรื่องการจ่ายเงินให้ตัวเองก่อนจะช่วยให้เราเน้นเอาเงินไปใช้สร้างความมั่งคั่งก่อนที่เงินจะไหลออกไปเป็นการใช้จ่าย

มันจะช่วยลดการตัดสินใจและลดความลังเล เพราะเราจะกำหนดจำนวนเงินไว้ว่าเงินจำนวนนี้ต้องหักก่อนที่จะไปใช้จ่าย และถ้าจะดีคือ ให้มันตัดอัตโนมัติ

ลองตั้งปณิธานว่า เราจะเริ่มเก็บเงินอย่างน้อย 10% ของรายได้ที่ได้รับตลอดชีวิตการทำงานเพื่อนำมาลงทุนโดยแบ่งเป็น 2 ก้อน

  1. ลงทุนเพื่ออิสรภาพทางการเงิน
  2. ลงทุนเพื่อการศึกษาของตนเอง

เริ่มเปิดบัญชีเพื่อการออมตั้งแต่วันนี้ โดยไม่ต้องสนใจว่าจะเป็นเงินมากน้อยแค่ไหน เริ่มจากน้อย ๆ (ถ้าเราไม่สามารถออมเงิน 100 บาทต่อเดือนได้ ก็จะออมเงิน 1,000 บาทไม่ได้เช่นกัน) จากนั้นคอยมองหาหนทางที่จะเพิ่มพูนงอกเงยเงินออมทุกครั้งที่มีโอกาส

จำไว้ว่า ทุกครั้งที่ได้เงินมา จงจ่ายให้ตัวเองก่อน

รายได้ – รายจ่ายให้ตนเอง = เงินสําหรับใช้จ่าย

เทคนิคสร้างแรงจูงใจให้เราจ่ายเงินให้ตัวเองได้สำเร็จ “ลองคิดดูว่าเมื่อเวลานานไป เงินของเรางอกเงยสูงขึ้นเรื่อย ๆ เราจะมีความสุขแค่ไหน บางทีเวลาเห็นเงินเรางอกเงยนั้นมีความสุขมากกว่าการได้ใช้มันด้วยซ้ำ”

ถ้าคุณไม่สามารถเก็บเงินไว้ได้ แสดงว่าในตัวคุณไม่มีเมล็ดพันธุ์แห่งความยิ่งใหญ่ – W. Clement Stone

9

ค่าเสียโอกาส

ทุกการใช้จ่ายไม่ว่าจะเท่าไหร่ นั้นหมายถึงโอกาสที่เราจะนำเงินนั้นไปลงทุนเพื่อให้เงินนั้นงอกเงยและการมีอิสรภาพทางการเงินของเราก็จะช้าลง

ทุกบาททุกสตางค์ที่เราใช้ไปนั้นเป็นอีกบาทอีกสตางค์ที่เราพลาดที่จะใช้กับอย่างอื่น นี่คือแนวคิดของค่าเสียโอกาส เราจะได้อย่าง เสียอย่างเสมอ

ชีวิตเป็นเรื่องของการเลือก การใช้เงินก็เช่นกัน ทุกครั้งที่เราจ่าย เราต้องเลือกจ่ายเพื่อเลือกคุณค่าที่ดีที่สุดสำหรับเรา

การระลึกแบบนี้ไว้เสมอจะช่วยให้เราเห็นคุณค่าและคิดเยอะขึ้นกับการใช้เงินในทุกครั้ง เราจะเริ่มคิดว่า ถ้าเราเลือกใช้เงินไปกับสิ่งนี้นั้นหมายถึงจะเสียโอกาสที่จะใช้กับอีกสิ่ง

แล้วเราจะใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยแบบที่คิดไตร่ตรองและรู้ว่าเราจะเสียโอกาสอะไรไปบ้างถ้าต้องจ่ายอะไรบางอย่าง

เราต้องใช้เงินไปกับสิ่งที่จำเป็นและมีคุณค่าต่อเราจริง ๆ เท่านั้น

ฝึกตัวเองให้เป็นคนที่ระมัดระวังการใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ และคิดถึงต้นทุนที่จะเสียไป แล้วเลือกคุณค่าก่อนจ่าย

สำหรับใครที่อยากได้เทคนิคการหยุดซื้อของโดยไม่คิด เวลาจะตัดสินใจใช้จ่าย ให้เลื่อนการตัดสินใจนั้นออกไปอย่างน้อย 1 อาทิตย์ หรือ 1 เดือน ยิ่งเลื่อนการตัดสินใจออกไปนาน เราก็จะยิ่งตัดสินใจได้ดีขึ้นเท่านั้น

10

อย่าซื้อของเพียงเพื่อสร้างความประทับใจให้ผู้อื่น

แน่นอนว่ามนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม เราต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และการได้รับการยอมรับ

เราส่วนใหญ่มักเชื่อว่าการที่เราซื้อของบางอย่างเพื่ออยากสร้างความประทับใจ ความสนใจจากคนอื่น ตั้งแต่เสื้อผ้า รถยนต์ ไปจนถึงบ้าน

เราถูกความกดดันจากสังคม ผู้คนรอบข้างให้ต้องซื้อในสิ่งที่เราไม่ได้ต้องการจริง ๆ

แต่ความจริงแล้วคนอื่นไม่ได้สนใจเราจริง ๆ หรอก พวกเขาต่างมีเรื่องของตัวเองให้ต้องคิด ไม่กี่นาที ไม่กี่ชั่วโมง ไม่กี่วัน พวกเขาก็ลืมเรื่องราวของเราแล้ว

ถ้าเราต้องคอยซื้อของเพื่อสร้างความประทับใจ ความสนใจจากคนอื่น เราจะผิดหวังอยู่เรื่อยไป

เราใช้เงินที่หามาได้อย่างยากลำบากเพื่อซื้อของเพียงต้องการซื้อเพื่อได้สร้างความประทับใจและความสนใจจากคนอื่นเพียงเท่านั้น

เราต้องหยุดพยายามสร้างความประทับใจให้ผู้อื่น เลือกซื้อเฉพาะสิ่งที่มีคุณค่าต่อเราจริง ๆ อย่าปล่อยให้คนอื่นมากำหนดชีวิตของเรา แล้วเราจะเป็นอิสระ

จงเปลี่ยนจากการพยายามซื้อของเพื่อสร้างความประทับใจให้ผู้อื่น เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาแทน

บทสรุป

บทเรียนที่สำคัญที่สุด การตระหนักรู้ว่าเงินเป็นแค่ตัวกลางแลกเปลี่ยนคุณค่าเพียงเท่านั้น เงินมีค่าเมื่อมันสามารถแลกเปลี่ยนคุณค่าได้ ดังนั้น ถ้าเราอยากมั่งคั่งร่ำรวยให้เริ่มจากบ่มเพาะคุณค่าในตัวเองและแบ่งปันคุณค่าเหล่านั้นให้โลก แล้วมันจะดึงดูดเงินเข้ามาหาเราอัตโนมัติ

และสุดท้ายนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่ง ทั้ง 10 ข้อนี้ จะมีสักข้อที่เพื่อน ๆ สามารถนำเอาไปประยุกต์ใช้หรือทำให้เกิดแรงบันดาลใจบางอย่างขึ้นได้

แล้วพบกันที่ปลายทางของความสำเร็จครับ! 💪

อ่านจบแล้ว รู้สึกยังไงบ้าง ช่วยบอกเราหน่อยครับ 🙏
22 responses
OMG
OMG
6
Love
Love
13
Like
Like
3
Sad
Sad
0
Dizzy
Dizzy
0
Sleepy
Sleepy
0