คุณกำลังคิดมากอยู่หรือเปล่าครับ? หากคุณกำลังรู้สึกคิดมากกับบางอย่างอยู่ โปรดรู้ไว้ว่า คุณไม่ได้ตัวคนเดียวและไม่ใ่ชเรื่องผิดแปลกอะไรเลยครับ
การคิดมากเป็นเรื่องปกติอย่างหนึ่งของมนุษย์ เราทุกคนล้วนมีช่วงเวลาที่คิดมากอยู่เสมอตลอดเส้นทางของชีวิต
“ถ้าฉัน…. จะเกิดอะไรขึ้น เป็นสิ่งที่บรรพบุรุษเราถามตัวเองในหัวตลอดเวลา เพื่อปกป้องชีวิตตัวเองกับภัยอันตรายมากมายในป่า โดยเฉพาะเดี๋ยวถูกเสือจับกิน”
เช่นเดียวกับในยุคปัจจุบัน เมื่อต้องเผชิญกับการตัดสินใจครั้งสำคัญหรือปัญหาต่าง ๆ เรามักจะคิดและกังวลกับมัน “ถ้า….จะเกิดอะไรขึ้น”
สิ่งเหล่านี้คือธรรมชาติและเป็นกลไกที่เราพยายามควบคุมสถานการณ์และทำให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่าจะต้องทำยังไงต่อไป
แต่เรามักจะไม่หยุดแค่การใช้ความคิด เราเอาความคิดเหล่านั้นมาคิดซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า จมอยู่กับความคิดนั้นจนทำให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวล เครียด จนอาจถึงซึมเศร้าได้
ข่าวดี การคิดมากสามารถทำให้บรรเทาและแก้ให้หายได้ ถ้าเรารู้เทคนิค จำไว้ว่าคนเราทุกคนล้วนคิดมาก แต่คนที่สามารถรับมือกับมันได้ คือคนที่ได้ฝึกฝนและรู้วิธีรับมือกับมัน และเราทุก ๆ ก็ทำได้เช่นกัน
ซึ่งวันนี้ผมจะมาแบ่งปัน 15 วิธีรับมือกับการคิดมาก ซึ่งได้รวบรวมจากบทความและหนังสือที่เชื่อถือได้ รวมถึงประสบการณ์ส่วนตัวด้วยครับ (ผมแต่ก่อนเป็นคนหนึ่งที่คิดมากมาก ๆ ครับ)
หวังว่าบทความนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเพื่อน ๆ ได้นะครับ 🙌
การคิดมากคืออะไร?

ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักความคิดมากกันก่อน เพราะด่านแรกในการจะรับมือกับมัน เราต้องรู้จักมันก่อนครับ
นิยามของมันตรงไปตรงมา การคิดมากคือ “การคิดถึงบางสิ่งมากเกินไปหรือนานเกินไป” เป็นพฤติกรรมที่เราจมอยู่กับความคิดหรือสถานการณ์เดิม ๆ ซ้ำ ๆ จนถึงจุดที่มันขวางทางชีวิตของเรา ไม่ยอมให้เราได้ก้าวต่อไปได้
ลักษณะเด่นของมันคือ “การใช้ความคิดที่ไม่ได้สร้างผลลัพธ์อะไรเลย ล่องลอยวนไปวนมาอยู่แต่ในหัว”
โดยการคิดมากมักจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ การคิดถึงเรื่องในอดีตหรือการวิตกกังวลเรื่องในอนาคต
โดยสรุป การคิดมากคือ “การคิดที่ไม่ได้ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น”
คุณกำลังคิดมากอยู่หรือเปล่า?

หลายคนอาจจะแยกไม่ออกว่าอะไรคือการคิดมาก ลองดูสัญญาณเหล่านี้ ซึ่งสามารถบ่งบอกได้ว่าเรามีแนวโน้มที่จะคิดมากหรือไม่
- จมอยู่กับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ในอดีต
- หวนคิดถึงช่วงเวลาน่าอายในหัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า
- ตอกย้ำความผิดพลาดในใจอยู่เสมอ
- เล่นบทสนทนาที่ไม่สบายใจในอดีตในหัวซ้ำ ๆ
- ยึดติดกับสิ่งที่ควบคุม เปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงไม่ได้
- ชอบนึกภาพสถานการณ์หรือผลลัพธ์ที่แย่ที่สุด
- ตั้งคำถามแต่ไม่ลงมือทำอะไรเลย
- มีปัญหานอนไม่ค่อยหลับ เพราะหัวไม่เคยหยุดคิด
- ชอบถามตัวเองบ่อย ๆ ว่า “จะเกิดอะไรขึ้นถ้า….”
- ชอบถามตัวเองบ่อย ๆ ว่า “ถ้าไม่ทำ…. คงจะดี”
- ใช้เวลานึกถึงคำพูดและตีความหมายว่าคนนั้นหมายถึงอะไรนะ เขาไม่ชอบเราหรือเปล่านะ
- เมื่อมีคนพูดหรือทำในลักษณะที่ไม่ชอบเรา เราจะฉายภาพหรือคำพูดนั้นในใจซ้ำ ๆ
- หลงลืมสิ่งรอบ ๆ ตัวไป เพราะมัวแต่จมปลักอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตหรือกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
- ไม่สามารถเอาก้อนความคิดที่กังวลออกจากหัวได้
ถ้าเกิดเรามีข้อไหนที่บ่งบอกว่ากำลังคิดมาก โปรดรู้ไว้ว่า ไม่มีอะไรผิดปกติ เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์เรา
Jon Acuff นักเขียนชื่อดังเคยทำแบบสอบถามผู้คน 10,000 คนว่าพวกเขาคิดมากไหม สิ่งที่เขาได้คำตอบคือ 99.5% ตอบว่าใช่
พวกเราส่วนใหญ่เป็นคนคิดมาก ซึ่งการคิดมากหรือหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่เรากังวลเป็นสัญญาณว่าเรารู้กำลังรู้สึกกลัวและไม่แน่ใจ สมองของเรากำลังพยายามหาทางแก้ไขอยู่
15 เทคนิครับมือกับการคิดมาก

ตระหนักรู้ว่ากำลังคิดมาก
ก่อนที่จะรู้วิธีการรับมือกับการคิดมาก เราต้องตระหนักถึงมันเมื่อมันเกิดขึ้นก่อน เปรียบเสมือนเป็นประตูบานแรกที่ต้องเปิดก่อนจะใช้เทคนิคอื่น ๆ
“การตระหนักรู้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง”
เมื่อใดก็ตามที่เริ่มรู้สึกสงสัย วิตกกังวล หรือเครียด ให้ตระหนักรู้ความคิดเหล่านั้น แล้วบอกตัวเองว่า “เรากำลังคิดมากอยู่”
วิธีนี้อาจฟังดูง่าย แต่ทำไม่ง่ายเลย ดังนั้น ผมจึงแนะนำว่า ให้ลองให้เครื่องยึดบางอย่างเป็นตัวแทนของการตระหนักรู้ เช่น เทคนิคการใช้หนังยางรัดไว้ข้อมือ ถ้าตอนไหนเริ่มรู้สึกว่าคิดมากแล้ว ให้ดีดหนังยางนั้น 1 ครั้งหรือถ้าตอนไหนเริ่มรู้สึกว่าคิดมากแล้ว ให้ขีด 1 ขีดลงในสมุดบันทึกไว้ ถ้าคิดมากอีก ก็ขีดเพิ่มไปเรื่อย ๆ
การทำเช่นนี้จะเป็นเหมือนไปขัดจังหวะของพฤติกรรมคิดมากของเรา ซึ่งพอทำบ่อย ๆ มันก็จะกลายเป็นนิสัย เมื่อนั้นเราจะตระหนักรู้อัตโนมัติ โดยไม่ต้องพึ่งเครื่องมืออะไรเลย
วิธีนี้ผมใช้กับตัวเอง ซึ่งได้ผล ไม่ใช่แค่รับมือกับการคิดมากได้ดีขึ้น แต่กับเรื่องอื่น ๆ ด้วย
ปล่อยวางสิ่งที่ควบคุมไม่ได้
หนึ่งในคำสอนของนักปรัชญาลัทธิสโตอิกที่ผมยึดถือมาโดยตลอดคือ “สนใจในสิ่งที่ควบคุมได้ นี่คืออำนาจของเรา และปล่อยวางทิ้งที่ควบคุมไม่ได้”
นี่คือความจริงที่สุดและเป็นสิ่งที่เราควรยอมรับว่า “เราไม่สามารถควบคุมทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตได้”
เมื่อเราเริ่มคิดมาก ให้ยอมรับว่าเรากำลังคิดมากอยู่จากนั้นให้ถอยออกมาแล้วถามตัวเองว่า “สิ่งที่กำลังคิดอยู่ในหัวนี้ มีอะไรบ้างที่ควบคุมได้และอะไรที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา”
หลังจากนั้นจดลงกระดาษ
สิ่งที่ควบคุมได้ คือ ….
สิ่งที่ควบคุมไม่ได้ คือ ….
เมื่อเขียนเสร็จ ให้ขีดฆ่าตัวสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ทิ้งไป แล้วหันมาใส่ใจกับสิ่งที่ควบคุมได้
ตัวอย่างเช่น
- เมื่อคิดมากเกี่ยวกับพายุ บอกตัวเองว่า “เราไม่สามารถป้องกันไม่ให้พายุมาได้ แต่เราสามารถเตรียมพร้อมรับมือได้”
- เมื่อมีคนทำตัวไม่ดีกับเรา ทำให้เราคิดมาก บอกตัวเองว่า “เราไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมคนอื่นที่มีต่อเราได้ แต่เราควบคุมได้ว่าจะตอบสนองยังไง”
- เมื่อผลลัพธ์ไม่ดีเกิดขึ้น บอกตัวเองว่า “เราไม่สามารถควบคุมผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตได้ แต่เราเลือกวิธีการตอบสนองกับสิ่งเหล่านั้นได้”
- เมื่อเราเครียด บอกตัวเองว่า “เราไม่สามารถบังคับให้ตัวเองไม่เครียดได้ แต่เราเลือกว่าจะรับมือกับมันได้”
- เมื่อเราคิดมากเกี่ยวกับอดีต บอกตัวเองว่า “เราไม่สามารถเปลี่ยนอดีตได้ แต่เราเลือกที่จะมองเป็นบทเรียนเพื่อให้ก้าวต่อได้ดียิ่งขึ้นได้”
- เมื่อเราคิดมากเกี่ยวกับอนาคต บอกตัวเองว่า “เราไม่สามารถไปคาดการณ์อนาคตได้ แต่เราเลือกที่จะทำปัจจุบันให้ดีที่สุดได้”
เรียนรู้จะปล่อยวางเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ แล้วทุ่มพลังและเวลาไปที่สิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ จะดีกว่านะครับ
เปลี่ยนเรื่องราวที่บอกตัวเอง
“ฉันเป็นคนคิดมาก” “ฉันเป็นคนขี้กังวล” คุณเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้กับตัวเองอยู่บ่อย ๆ ไหมครับ?
สิ่งที่เราพูดซ้ำ ๆ กับตัวเอง และวิธีที่เราอธิบายตัวเองเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ จะเป็นสิ่งที่เราเชื่อและเราก็จะกลายเป็นสิ่งนั้น
คำถามคือ เรื่องราวที่เราบอกตัวเองนั้นส่งเสริมให้เราดีขึ้นหรือรั้งให้เราแย่ลงกว่าเดิม?
หากเราบอกตัวเองตลอดเวลาว่า “ฉันเป็นคนคิดมาก” ขอให้นับตั้งแต่อ่นี้ ให้หยุด เพราะมันจะทำให้เราหมดพลัง
ให้เปลี่ยนเป็นบอกตัวเองอย่างนี้แทน “ฉันควบคุมอารมณ์ตัวเองได้” “ฉันมีอำนาจที่จะเลือกได้ว่าจะตอบสนองสิ่งนี้อย่างไร” “ฉันจะไม่ทำร้ายตัวเอง”
ประโยคเหล่านี้จะเพิ่มพลัง ดึงพลังของเรากลับคืนมา
พร้อมเล่าเรื่องราวใหม่ให้ตัวเองหรือยังครับ?
เผชิญหน้ากับความกลัว
“คนเรามักทุกข์เพราะจินตนาการมากกว่าในความเป็นจริง” นี่คือพูดของนักปราชญ์ลัทธิสโตอิก สะท้อนให้เห็นว่าเรามักกลัวเกินความเป็นจริง ถ้าเราสังเกต เราจะพบว่าสิ่งที่เรากลัวนั้นแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นจริงเลย
ความกลัวมักเกิดจากจินตนาการว่า “สิ่งเลวร้าย อาจจะเกิดขึ้น…” ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เราคิดมาก เช่น เรากลัวสิ่งที่คนอื่นคิดกับเรา เรากลัวที่จะทำผิดพลาด เรากลัวว่าจะไม่ดีพอสำหรับใครสักคน เรากลัวที่จะไม่ประสบความสำเร็จ
“รากเหง้าของการคิดมากล้วนมาจากความกลัว”
วิธีเอาชนะความกลัวที่ดีที่สุดคือ การเผชิญหน้ากับมัน ดังที่นโปเลียน ฮิลล์ นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ Think and Grow Rich เขียนไว้ว่า “ความกลัวสามารถรักษาให้หายขาดด้วยการแสดงความกล้าหาญซ้ำ ๆ”
เราต้องกล้าหาญที่จะเผชิญหน้ากับมันด้วยการตั้งคำถามนี้ “ถ้าเกิดสิ่งนี้ขึ้น จะมีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้อีกไหม?”
สิ่งนี้จะช่วยเราได้ยังไง จำไว้ว่า ความกลัวเกิดจากเรารู้สึกมีความเสี่ยง ความไม่แน่นอน แต่ถ้าเรารู้ชัดว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างแล้ว แล้วหาวิธีรับมือหรือเตรียมใจไว้ ความกลัวจะหดลงในทันที
ซึ่งเมื่อความกลัวลดน้อยลง ความคิดมากของเราก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย
ถ้ากำลังคิดมากอยู่ หยิบปากกาออกมา เขียนสิ่งที่กลัวออกจากหัวลงกระดาษ แล้วเขียนวิธีรับมือกับหรือแก้ไขมัน แล้วเราจะพบว่า เราคิดมากน้อยลงในทันที
เปลี่ยนกรอบเวลา
เวลาเรากำลังคิดมาก ลองใช้เทคนิคการเปลี่ยนกรอบเวลา 10/10/10 โดยการถามตัวเองว่า “เรื่องนี้อีก 10 วันข้างหน้าจะยังมีความสำคัญไหม?”
เมื่อได้คำตอบแล้ว ให้ถามอีกครั้งว่า “แล้วเรื่องนี้อีก 10 เดือนข้างหน้าจะยังมีความสำคัญไหม?”
เมื่อได้คำตอบแล้ว ให้ถามอีกครั้งว่า “แล้วเรื่องนี้อีก 10 ปีข้างหน้าจะยังมีความสำคัญไหม?”
ถ้าได้คำตอบว่า ไม่สำคัญ อย่าเสียเวลากับมันเกิน 10 นาที
การมองภาพถึงอนาคต ยิ่งไกล เราก็จะยิ่งพบว่าสิ่งที่เรากำลังคิดมากอยู่นั้นเป็นเรื่องเล็กจิ๋วเลย เมื่อเทียบกับทั้งชีวิตของเรา
วิธีนี้ผมใช้มาโดยตลอด และมันได้ผลดีมาก ๆ ด้วยครับ
ปล่อยวางอดีต
เวลาเราคิดมากส่วนใหญ่มักจะเป็นเวลาที่เรามุ่งความใส่ใจไปที่เรื่องราวในอดีต เมื่อเราคิดเช่นนั้น แสดงว่าเรากำลังใช้พลังงานไปกับ “ถ้า….” และ “ควร….” แต่สิ่งเหล่านี้กำลังดึงพลังของเราออกจากช่วงเวลาปัจจุบัน
เราต้องฝึกที่จะตระหนักว่าอดีตก็คืออดีต เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงมันได้แล้ว มันไปจบแล้ว สิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำกับมันได้คือ เปลี่ยนประสบการณ์นั้นให้เป็นบทเรียน นี่คือวิธีที่ดีที่สุดในการมองอดีต
การปล่อยวางอดีตหมายความว่าเรามองมันด้วยสายตาที่เสาะหาบทเรียน แล้วไม่ยอมอดีตนั้นมาควบคุมหรือกำหนดชีวิตเราในปัจจุบัน
จงปล่อยวางอดีต ให้อภัยตัวเองโดยไม่มีข้อแม้ แล้วหันมาทำวันนี้ให้ดีที่สุด นี่คือของขวัญที่ดีที่สุดที่เราจะให้กับตัวเองได้
อยู่กับปัจจุบัน
การคิดมากล้วนมีต้นต่อมาจากการคิดถึงเรื่องราวในอดีตและอนาคต ดังนั้น ยาที่จะแก้การคิดมากได้ดีที่สุดคือ “ยาแห่งการอยู่กับปัจจุบัน”
ถ้าเริ่มคิดมากให้พยายามเตือนตัวเองด้วยประโยคนี้ “อดีตไม่สำคัญ อนาคตอยู่ไกลเกินเอื้อม ทั้งหมดที่มีคือปัจจุบันนี้ ที่นี่และตอนนี้เท่านั้น” อีกครั้ง “อดีตไม่สำคัญ อนาคตอยู่ไกลเกินเอื้อม ทั้งหมดที่มีคือปัจจุบันนี้ ที่นี่และตอนนี้เท่านั้น”
ท่องมัน ร่ายมนตร์นี้ จนมันฝังลึกเข้าไปในจิตใต้สำนึก แล้วเราจะพบพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในนั้น (สำหรับใครสนเรื่องการอยู่กับปัจจุบัน ผมแนะนำหนังสือเล่มนี้ The Power of Now ซึ่งผมได้ทำสรุปไว้ที่นี่ครับ “The Power of Now“
“เวลาดีที่สุดที่จะปลูกต้นโอ๊คคือเมื่อยี่สิบห้าปีก่อน เวลาดีที่สุดรองลงมาคือวันนี้” – James Carville
โฟกัสการแก้ไข
เวลาคิดมาก ให้เปลี่ยนโฟกัสไปที่การแก้ไข แล้วลืมเหตุผลของสถานการณ์เหล่านั้น เช่น แทนที่จะคิดอยู่ตลอดเวลาว่าทำไมสิ่งนี้ถึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ให้เปลี่ยนไปคิดถึงสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อแก้ไขมันได้
“หยุดมองหาเหตุผล แล้วมองไปที่การแก้ไข”
ดาไลลามะได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ได้อย่างคมคายว่า “ถ้าไม่มีหนทางที่จะแก้ปัญหาได้ ก็ไม่ต้องเสียเวลาไปกังวลกับมัน แต่หากมีวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้น ก็อย่าเสียเวลากังวลกับมันเช่นกัน” ท่านหมายความว่า ถ้าแก้ไขไม่ได้ ก็ปล่อยมันไปเถอะ แต่ถ้ามีวิธีแก้ไข ก็ไม่ต้องกังวล แก้ไขมันสิ
ดังนั้นเวลาคิดมาก อย่าโฟกัสที่เหตุผล ให้โฟกัสที่วิธีแก้ไข
ถามตัวเองว่า “มีทางไหนจะแก้ไขสิ่งนี้ได้บ้าง?”
ถ้ายังไม่รู้ ให้จินตนาการว่าถ้าคนอื่น ๆ เจอสถานการณ์อย่างเรา พวกเขาจะรับมือกับมันยังไง จะแก้ไขมันยังไง หรือถ้ายังไม่รู้ว่าจะแก้ยังไงอีก ให้ลองปรึกษาคนที่อื่นดู เผื่อพวกเขามีไอเดียที่จะช่วยเราแก้ไขได้
และให้คิดว่า ถ้าเราแก้ไขมันได้แล้ว สิ่งนี้จะเป็นเครื่องมือของเราใช้ในการรับมือในอนาคตได้ดีขึ้น และเรายังได้ช่วยเหลือคนอื่นได้ด้วยการแบ่งปันวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ให้กับคนอื่นที่กำลังเผชิญกับสิ่งเดียวกันกับที่เราเคยเผชิญมา
ติดตามรูปแบบความคิด
การแยกตัวเราออกจากความคิด กลายเป็นผู้เฝ้าดูจะช่วยเราไม่ตกอยู่ในอำนาจของความคิดเหล่านั้นได้
ในแต่ละวันให้เราเฝ้ามองติดตามรูปแบบความคิดของตัวเอง เมื่อเริ่มเห็นว่ากำลังคิดมากอยู่ ก็ให้รับรู้ความคิดเหล่านั้นตลอดทั้งวัน หลังจากนั้น ในตอนกลางคืน ให้เราเขียนสรุปจดบันทึกประจำวันว่า วันนี้ เราคิดมากเรื่องอะไรบ้าง ช่วงไหนบ้าง
ถ้าทำวิธีนี้ได้อย่างต่อเนื่อง รับรองว่าไม่นาน เราจะตกใจว่าเราคิดมากน้อยลงมาก
สัมผัสธรรมชาติ
เมื่อรู้สึกว่าตัวเองคิดมาก เทคนิคหนึ่งที่ทำได้ง่ายมาก ๆ ที่ช่วยทำให้เรารู้สึกสบายใจขึ้นได้คือ การเปลี่ยนบรรยากาศโดยเฉพาะแหล่งธรรมชาติหรือสวนสาธารณะ
งานวิจัยหลายชิ้นสรุปว่าการเดินในพื้นที่สีเขียวหรือการเชื่อมต่อกับธรรมชาติ รับอากาศบริสุทธิ์และแสงแดดสามารถทำช่วยทำให้เราผ่อนคลายความวิตกกังวลได้
และไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานด้วย ลองใช้เวลาสัก 20 นาทีต่อวันไปสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่มีธรรมชาติ มีต้นไม้เยอะ ๆ หรือสวนสาธารณะดูครับ มันจะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ในทันที
กำหนดเวลาให้คิดมาก
การครุ่นคิดถึงปัญหาต่าง ๆ จมอยู่กับความคิดเหล่านั้นทั้งวี่ทั้งวันโดยไม่มีการกำหนดขอบเขตเป็นเรื่องที่เหน็ดเหนื่อย และทำให้หมดพลัง
เราจึงต้องสร้างช่วงเวลาแห่งการ “คิดมาก” มาโดยเฉพาะ ปล่อยให้ตัวเองได้คิดมาก กังวลให้เต็มที่ในเวลานี้เท่านั้น โดยตั้งเวลาไว้ 10 นาที พร้อมกับปากกาและกระดาษ
หลังจากนั้นจดทุกสิ่งทุกอย่างที่คิดมากอยู่ลงไปให้หมด และเมื่อครบ 10 นาทีแล้ว ให้ฉีกกระดาษนั้น แล้วโยนทิ้งถังขยะไป แล้วหันไปทำอะไรที่สนุก ๆ
กำหนดเดดไลน์
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรายังคิดมากอยู่ เพราะเราไม่ยอมตัดสินใจ (จริง ๆ) เพราะยิ่งปล่อยให้ตัวเองคิดโดยไม่กำหนดเวลาตัดสินใจ เราก็จะคิดมากหมุนความคิดไปเรื่อย ๆ ไม่มีสิ้นสุด
ซึ่งเป็นไปตามกฎของพาร์กินสันที่กล่าวว่า “สิ่งใดที่เราไม่กำหนดเวลาให้ เราจะเลื่อนไปเลื่อน ๆ”
ดังนั้นเราต้องเรียนรู้ที่จะตัดสินใจอย่างเด็ดขาดเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาคิดมากเรื่องนั้นอีกต่อไปด้วยการกำหนดเดดไลน์
เช่น “ฉันจะปล่อยให้ตัวเองคิดมากกับเรื่องนี้ภายใน 3 วันนี้เท่านั้น หลังจากนั้นฉันจะไม่อนุญาตให้ตัวเองคิดเกี่ยวกับมันอีกต่อไป”
ตั้งคำถาม
เมื่อคิดมาก อย่าปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความคิดเหล่านั้น เพราะยิ่งคิด จิตใจของเราก็จะยิ่งผลิตสิ่งที่กังวลมากขึ้น ซึ่งทำให้เรามองสถานการณ์ไม่ตรงตามความเป็นจริง
หนึ่งในวิธีที่จะช่วยเราได้คือ การตั้งคำถาม
เมื่อตั้งคำถาม การโฟกัสของเราจะเปลี่ยน และการตั้งคำถามที่ถูกต้อง จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง และยิ่งตั้งคำถามที่ถูกต้องมากเท่าไหร่ สมองก็จะยิ่งพยายามค้นหาคำตอบ และบรรเทาการคิดมากได้มากเท่านั้น
ใช้เวลาสักครู่ ตั้งคำถามกับตัวเองด้วย 10 คำถามนี้
- การคิดมาก ช่วยชีวิตให้ฉันดีขึ้นอย่างไรบ้าง?
- ทำไมฉันถึงคิดว่าสิ่งที่ฉันคิดมาก จะเกิดขึ้นจริง?
- เป็นไปได้ไหมที่ความคิดของฉันจะไม่ถูกต้อง?
- ตอนนี้อะไรคือสิ่งที่ฉันกลัวมากที่สุด?
- สิ่งที่ฉันคิดและเชื่อตอนนี้ มันเป็นความจริง จริงหรือ?
- อะไรคือสิ่งเลวร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นได้หากสิ่งที่กังวลอยู่เป็นจริง? แล้วฉันจะรับมือกับสิ่งนั้นได้อย่างไร?
- อะไรคือสิ่งดีที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นได้หากสิ่งที่กังวลอยู่เป็นจริง?
- ตอนนี้มีใครสามารถช่วยฉันได้ไหม?
- พรุ่งนี้ เดือนหน้า ปีหน้า สิ่งที่ฉันคิดอยู่ จะยังมีความสำคัญอะไรไหม?
- ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต ฉันยังจะสนใจสิ่งเหล่านี้อยู่ไหม?
ลองใช้คำถามเหล่านี้ การตั้งคำถามช่วยเปิดโอกาสให้เราได้พูดคุยกับตัวเองอย่างจริงจัง เมื่อถามเสร็จเราจะพบว่าการคิดมากหรือความกังวลของเราจะลดน้อยลงในทันที
ขอความช่วยเหลือ
มีงานวิจัยยืนยันเรื่องนี้ว่า “การคิดร่วมกัน การพูดคุยและทบทวนปัญหากับคนอื่น ๆ จะช่วยลดความวิตกกังวลได้”
หากเราหมดหนทาง ให้มองหาคนที่สามารถช่วยเหลือเราได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครอบครัว คนรัก หรือผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เฉพาะ หรือถ้าใครไม่สะดวกที่จะขอคำแนะนำจากคนรอบข้าง ลองเข้าไปโพสต์บน Pantip หรือในกลุ่ม Facebook สำหรับคนที่มีปัญหาเดียวกันกับเรา เราจะพบว่าทุกคนพร้อมที่จะช่วยเรา หรือไปร้านหนังสือหยิบหนังสือสักเล่มที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรากังวลอยู่ก็ได้
จำไว้เสมอเลยว่า “คุณไม่ได้อยู่คนเดียว” มีผู้คน มีเครื่องมือมากมายที่พร้อมจะเข้ามาช่วยเราเสมอ
ยอมรับว่าเราทำดีที่สุดแล้ว
ความกลัวเป็นตัวการหลักที่ทำให้เราคิดมาก มันทำให้เรารู้สึกว่า เรายังไม่ดีพอ แต่โปรดจงรู้ไว้ว่า จริง ๆ แล้ว เราดีพอสำหรับทุกอย่างแล้ว เราดีพอที่จะมีชีวิตอยู่ เราดีพอที่จะมีความสุข เราดีพอที่จะมีชีวิตที่ดี ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จงยอมรับในตัวเอง
เราได้ทำดีที่สุดแล้ว
บอกตัวเองว่า “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราได้ทำดีที่สุดแล้ว” แล้วก้าวเดินต่อไป อนาคตที่ดีกว่าเปิดประตูรอรับเราอยู่
“ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คุณทำทุกอย่างได้ดีที่สุดแล้วครับ”
คำคมสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการคิดมาก
1. “การคิดมากหรือที่รู้จักกันเป็นอย่างดีว่าเป็นการสร้างปัญหาที่ไม่เคยมีมาก่อน” ― David Sikhosana
2. “ยิ่งคิดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งไม่เข้าใจมากเท่านั้น” ― Habeeb Akande
3. “จงใช้เวลา 80% ของคุณโดยมุ่งเน้นไปที่โอกาสของวันพรุ่งนี้มากกว่าปัญหาของเมื่อวาน” ― Brian Tracy
4. “พ่อของผมสอนว่าอย่าคิดมากเลยลูก มันไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบไปเสียหมดหรอก ดังนั้นแค่เดินหน้าต่อไปและทำให้ดีที่สุด” ― Scott Eastwood
5. “ถ้าคุณต้องการเอาชนะความวิตกกังวลของชีวิต จงอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับลมหายใจ” ― Amit Ray
6. “ความกังวลมากมายสามารถบรรเทาได้ด้วยการตระหนักถึงความไม่สำคัญของเรื่องที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล” ― Bertrand Russell
7. “ความวิตกกังวลของเราไม่ได้มาจากการคิดถึงอนาคต แต่เกิดจากการต้องการควบคุมมัน” ― Kahlil Gibran
8. “เมื่อคุณเริ่มกังวล จงไปหาอะไรทำ… ความกังวลนั้นไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง เพราะมันไม่สามารถแก้ปัญหาของคุณได้หรอกค่ะ” ― Joyce Meyer
9. “คิดให้น้อยลง แต่ใช้ชีวิตให้มากขึ้น” ― S.R. Crawford
10. จงหยุดคิด ก็จบปัญหา ― Lao Tzu
บทสรุป
การคิดมากเป็นธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะเราเป็นมนุษย์ ซึ่งมนุษย์ไม่สมบูรณ์แบบ เราต่างมีข้อบกพร่องกันทั้งนั้น
เราสามารถหลุดพ้นจากการคิดมากได้ ถ้าเรามีเครื่องมือที่ดีในการจัดการมัน ซึ่งทั้ง 15 เทคนิคนี้จะสามารถช่วยเราได้ ลองนำไปปรับใช้กับตัวเอง และที่สำคัญมันไม่สามารถหายได้ในทันที เราต้องฝึกฝน ให้เวลาตัวเองสักหน่อย
และจำไว้เสมอว่าชีวิตขึ้นอยู่กับเรา เราคือผู้กำหนดสิ่งต่าง ๆ ได้ว่าเราจะตอบสนองต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างไร เราเลือกได้ จงเลือกสิ่งที่ทำให้ตัวเองมีความสุข
มอบของขวัญให้ตัวเองด้วยการทำให้ตัวเองมีความสุขเถอะครับ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยคุณได้นะครับ 💪
Leave a Comment