แน่นอนว่าการตั้งเป้าหมายเป็นปัจจัยสำคัญของทุกความสำเร็จ แต่ทำไมบางคนตั้งเป้าหมายแล้วไม่สามารถลงมือทำตามเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นได้ล่ะ?
คำตอบง่าย ๆ เลย ก็เพราะว่าเทคนิคการตั้งเป้าหมายไม่ได้มีประสิทธิภาพมากพอที่จะบีบให้เราลงมือทำและทำจนบรรลุเป้าหมายนั้นได้
ซึ่งหนึ่งในเทคนิคการตั้งเป้าหมายที่เรียบง่ายแต่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การตั้งเป้าหมายแบบ SMART Goals
- เป้าหมายของเราคุ้มค่าที่จะลงแรง ลงเวลาหรือไม่?
- เป้าหมายของเราเป็นไปได้พอที่จะวิ่งไล่ตามหรือไม่?
- เป้าหมายของเราเป็นรูปธรรมเพียงพอหรือไม่?
- เป้าหมายของเราเป็นสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตของเราหรือไม่?
- เป้าหมายนั้นมีกรอบเวลาและกำหนดเส้นเดดไลน์ที่จูงใจหรือไม่?
- เราจะทราบได้อย่างง่ายเมื่อเราบรรลุเป้าหมายหรือไม่?
คำถามเหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่ตอบตรง ๆ ได้ยาก ถ้าเราไม่มีระบบ แต่โชคดีที่เรามีระบบที่ชื่อว่า SMART จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ให้เรา ใช้เป็นกฎเกณฑ์ในการตั้งเป้าหมายเพียงแค่ตอบคำถามให้ครบ 5 ข้อ เราก็จะได้เป้าหมายที่ทรงประสิทธิภาพแล้ว
ทำไมการตั้งเป้าหมายถึงสำคัญนัก?
![เทคนิคการตั้งเป้าหมายแบบ SMART Goals ฉบับสมบูรณ์แบบ [ตั้งเป้าหมายอย่างไรให้สำเร็จ]](https://themeaningful.co/wp-content/plugins/wp-fastest-cache-premium/pro/images/blank.gif)
คนที่ประสบความสำเร็จในทุกสาขาอาชีพล้วนมีเป้าหมายกันทุกคน
เป้าหมายเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสิ่งที่เราต้องการกับสิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบัน และเป็นได้ยากที่เราประสบความสำเร็จในสิ่งไหน ถ้าปราศจากการตั้งเป้าหมายก่อน ดังคำพูดของนักพูดให้แรงบันดาลใจผู้ยิ่งใหญ่ Tony Robbins พูดเกี่ยวกับการตั้งเป้าหมายไว้ว่า “การตั้งเป้าหมายเป็นขั้นตอนแรกในการเปลี่ยนสิ่งที่มองไม่เห็นให้กลายเป็นสิ่งที่มองเห็นได้”
การตั้งเป้าหมายเปรียบเสมือนการเล็งปืน ถ้าเราไม่เล็งก่อน เราจะยิงถูกเป้าได้ยังไง
4 สิ่งที่จะได้รับจากการตั้งเป้าหมาย
- เป้าหมายมอบการจดจ่อให้เรา – หากไม่มีเป้าหมาย เราจะสับสน ทุกอย่างจะวุ่นวาย ไม่รู้ว่าจะต้องจดจ่อกับสิ่งไหน
- เป้าหมายช่วยให้เรารู้ความก้าวหน้า – เราจะรู้ความคืบหน้าว่าเราไปถึงจุดไหนแล้วไม่ได้ ถ้าเราไม่รู้ว่าจุดหมายปลายทางอยู่ที่ไหน
- เป้าหมายช่วยให้มีแรงจูงใจ – มันง่ายที่เราจะหยุดลงมือทำหรือท้อแท้ ถ้าเราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำจะพาเราไปจุดไหน
- เป้าหมายช่วยเอาชนะการผัดวันประกันพรุ่ง – การตั้งเป้าหมายเป็นการสร้างความรับผิดชอบ
เห็นไหมครับว่า มันสำคัญอย่างมากที่เราจะต้องมีการตั้งเป้าหมาย
ทำไมผู้คนถึงล้มเหลวในการตั้งเป้าหมาย?

ไม่ใช่เรื่องง่าย และหลายคนล้มเหลวในการตั้งเป้าหมาย
การศึกษาของมหาวิทยาลัยสแครนตันพบว่า มีเพียง 8% ของผู้ที่ตั้งเป้าหมายปีใหม่ที่สามารถบรรลุเป้าหมายนั้นจริง ๆ ซึ่งหมายความว่า 92% ที่กำหนดเป้าหมายในปีใหม่ล้มเหลว
ปัญหาคือ หลายคนตั้งเป้าหมายด้วยความหวังและความปรารถนาเท่านั้น พวกเขาหวังว่าจะลดน้ำหนัก พวกเขาต้องการเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง หวังว่าจะเป็นคนที่เก่งขึ้น หวังว่าจะมีหุ่นที่ดีขึ้น ต้องการจะเก็บเงินได้มากขึ้น พวกเขามีแต่ความหวังและความปรารถนา สิ่งที่ไม่มีคือ แผนการที่ชัดเจน กรอบเวลาที่ชัดเจน ขั้นตอนการลงมือทำที่ชัดเจน พูดง่าย ๆ คือ พวกเขาไม่มีการตั้งเป้าหมายที่มีประสิทธิภาพ
เมื่อความหวังและความปรารถนาเหล่านั้นเผชิญหน้ากับความเป็นจริงในแต่ละวัน ไม่นานความหวังและความปรารถนาของพวกเขาก็ค่อย ๆ จางหายไป และตามมาด้วยความสิ้นหวัง
ดังนั้น การตั้งเป้าหมายที่ละเอียดและชัดเจนจะเข้ามาแก้ปัญหานี้ได้ ซึ่งการตั้งเป้าหมายแบบ SMART Goals ช่วยเราได้
SMART Goal คืออะไร?

จริง ๆ แล้วการตั้งเป้าหมายแบบ SMART นั้นมีมานานกว่า 40 ปีแล้ว มันเริ่มต้นขึ้นในปี 1981 จาก George T. Doran ชายผู้เป็นที่ปรึกษาและอดีตผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนองค์กรของบริษัท Washington Water Power Company เขาได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง “There’s a SMART Way to Write Management’s Goal and Objective” ซึ่งได้แนะนำแนวทางการตั้งเป้าหมายที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้บรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น และได้ใช้ชื่อมันว่า “SMART goals”
SMART Goals จะแบ่งออกเป็นตัวย่อ 5 ข้อคือ S (Specific) M (Measurable) A (Achievable) R (Relevant) และ T (Time-bound) ทั้งหมดจะมีหน้าที่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เรามั่นใจได้ว่าเป้าหมายที่สร้างขึ้นมานั้นเหมาะสมกับตัวเองและสามารถบรรลุได้
ซึ่งการตั้งเป้าหมายแบบ SMART สามารถนำไปใช้ได้กับทุกด้านของชีวิตไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัวหรืออาชีพการงาน การเงิน ความสัมพันธ์ ทั้งเป้าหมายเล็ก ๆ หรือเป้าหมายใหญ่ก็สามารถใช้ได้หมด
ตอนนี้เราก็รู้จัก SMART Goals คร่าว ๆ แล้ว ต่อไปเราจะมาทำความรู้จักรายละเอียดของแต่ละตัวกันครับ
วิธีตั้งเป้าหมายแบบ SMART
อาจจะดูซับซ้อนเล็กน้อยในช่วงเริ่มแรก แต่การตั้งเป้าหมายแบบ SMART นั้นง่ายมาก โดยให้โฟกัสไปที่แต่ละคำของตัวย่อ ซึ่งให้เป้าหมายที่เราตั้งเข้าเงื่อนไขทั้ง 5 แค่นี้เองครับ
Specific (S) เฉพาะเจาะจง
เป้าหมายที่ดีจะต้องไม่คลุมเครือ มีความชัดเจน ต้องรู้ว่าต้องการอะไรที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น แทนที่จะพูดว่า “ฉันต้องการมีรูปร่างที่ดี” เราต้องพูดว่า “ฉันต้องการลดน้ำหนัก 15 กิโลภายใน 6 เดือน”
การตั้งเป้าหมายแบบแรกเป็นการให้คำจำกัดความกว้าง ๆ ทำให้มีพื้นที่สำหรับตีความมากเกินไป และกว้างเกินจนไม่รู้ว่าจะต้องลงมือทำยังไงต่อ
ความเฉพาะเจาะจงของเป้าหมายจะช่วยให้เราทราบถึงสิ่งที่กำลังมองหา เพื่อจะได้เล็งเป้าหมายได้อย่างชัดเจน แคบ และตรง ทำให้มีประสิทธิภาพและแม่นยำสูง
ให้ตั้งคำถามเหล่านี้ ถ้าตอบได้แสดงว่าเป้าหมายเราเฉพาะเจาะจงมากพอ
- ต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้เป้าหมายนี้สำเร็จ?
- มีขั้นตอนอะไรบ้างเพื่อให้เป้าหมายนี้สำเร็จ?
- ทำไมถึงอยากจะบรรลุเป้าหมายนี้?
Measurable (M) วัดผลได้
การติดตามความคืบหน้าและวัดผลได้ของเป้าหมายเป็นส่วนสำคัญในการทำให้ตัวเองมีแรงจูงใจและรับผิดชอบต่อเป้าหมายที่ตั้งไว้ ยังช่วยเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเราต้องปรับเปลี่ยนอะไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น และช่วยให้เรารู้ว่าเราเข้าใกล้เป้าหมายมากแค่ไหนแล้ว
เป้าหมายที่ดีต้องสามารถกำหนดเป็นตัวเลขหรือจับต้องได้มากที่สุด เพื่อตอบคำถามง่าย ๆ ว่าถึงจุดไหนถึงเรียกได้ว่าบรรลุผลสำเร็จ
ให้ตั้งคำถามเหล่านี้ ถ้าตอบได้แสดงว่าเป้าหมายเราสามารถวัดผลได้
- เท่าไหร่? เช่น ลดน้ำหนัก 15 กิโล
- ตัวบ่งชี้ความคืบหน้าคืออะไร? เช่น จำนวนน้ำหนักที่ลดลง
- จะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อทำสำเร็จแล้ว? เช่น เมื่อน้ำหนักลดลง 15 กิโล
เมื่อบรรลุเป้าหมายที่สำคัญ อย่าลืมให้รางวัลตัวเองด้วยสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยนะครับ
Achievable (A) สามารถบรรลุได้
แม้เป้าหมายควรจะท้าทายเรา แต่ก็ไม่ควรที่จะท้าทายจนไม่สามารถเป็นไปได้
หลายคนพลาดท่าตรงที่ตั้งเป้าหมายไว้ใหญ่เกินจนไม่สามารถเป็นไปได้ แม้ว่าเป้าหมายที่ใหญ่และเกินจริงจะสามารถสร้างแรงจูงใจให้ได้ แต่มันก็แค่ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น เพราะในระยะยาวนั้นกลับส่งผลร้ายมากกว่า มันจะทำให้เรารู้สึกท้อแท้และสิ้นหวัง
แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ควรเอื้อมมือไปคว้าดวงดาว แต่มันหมายความว่ามันควรสมเหตุสมผล แต่ถึงยังไงเมื่อบรรลุเป้าหมายแล้ว ก็ค่อยขยับเป้าหมายให้สูงขึ้นอีกได้
เช่น ถ้าปัจจุบันเรามีน้ำหนัก 80 กิโล และอยากลดน้ำหนัก เราควรตั้งเป้าหมายว่าจะลด 15 กิโลภายใน 6 เดือน ไม่ใช่ จะต้องลดน้ำหนัก 15 กิโลภายใน 2 อาทิตย์
ให้ตั้งคำถามเหล่านี้ ถ้าตอบได้แสดงว่าเป็นเป้าหมายที่สามารถบรรลุได้
- ฉันจะสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้อย่างไร?
- ฉันมีทรัพยากรและความสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายนี้หรือไม่? ถ้าไม่มี ฉันขาดอะไร?
- คนอื่นเคยทำเป้าหมายนี้สำเร็จมาก่อนหรือไม่?
Relevant (R) เกี่ยวข้อง
เพื่อให้แน่ใจว่าเป้าหมายเป็นเป้าหมายที่เราต้องการจริง ๆ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป้าหมายแต่ละเป้าหมายนั้นสอดคล้องกับค่านิยม ความเชื่อ และเป้าหมายระยะยาวของเราหรือไม่
เช่น เราใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็นแพทย์เพื่อช่วยเหลือผู้คน เราก็ต้องตั้งเป้าหมายเลือกสอบเข้าคณะแพทย์ ไม่ใช่ตั้งเป้าว่าจะสอบเข้าเรียนวิศวะไฟฟ้าให้ได้
ให้ตั้งคำถามเหล่านี้ ถ้าตอบได้แสดงว่าเป็นเป้าหมายที่มีความสำคัญต่อเรา
- เป้าหมายนี้คุ้มค่าต่อการทุ่มเทหรือไม่?
- เป้าหมายนี้ถึงสำคัญต่อเราอย่างไร?
- การบรรลุเป้าหมายนี้จะช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นอย่างไร?
Time-Bound (T) มีกรอบเวลา
เงื่อนไขข้อสุดท้ายคือ การกำหนดกรอบเวลาที่ต้องบรรลุเป้าหมายให้ได้อย่างชัดเจน
เป้าหมายที่ปราศจากเดดไลน์ เป็นเป้าหมายที่ไร้ประสิทธิภาพที่สุด เพราะเราจะไม่รู้สึกถึงความเร่งด่วน และสมองเราจะไม่ลงมือทำ ถ้าไม่รู้เดดไลน์
การรู้กรอบเวลาจะช่วยสร้างแรงจูงใจและจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องลงมือทำ
เช่น เป้าหมายคือต้องการลดน้ำหนัก แทนที่จะพูดว่า “ฉันต้องการลดน้ำหนัก” ให้เปลี่ยนเป็น “ฉันต้องการลดน้ำหนัก 15 กิโลกรัม ภายใน 6 เดือนข้างหน้า”
ลองคิดดูว่าการตั้งเป้าหมายแบบแรกกับแบบที่สอง แบบไหนมีโอกาสที่จะทำสำเร็จมากกว่า แน่นอนว่าต้องเป็นแบบที่สอง ซึ่งเป็นเป้าหมายที่มีความเฉพาะเจาะจงทั้งในด้านของปริมาณและระยะเวลา มันทำให้เรารู้ชัดเจน ไม่คลุมเครือ ง่ายต่อการติดตามผล และรู้ว่าเราอยู่ ณ จุดไหนของเป้าหมายแล้ว
ให้ตั้งคำถามเหล่านี้ ถ้าตอบได้แสดงว่าเป็นเป้าหมายที่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน
- เป้าหมายของฉันมีเดดไลน์หรือไม่?
- เป้าหมายนี้จะต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันที่เท่าไหร่? เดือนไหน? ปีไหน?
- เป้าหมายนี้จะต้องบรรลุภายในวันที่เท่าไหร่? เดือนไหน? ปีไหน?
เมื่อวางเป้าหมายแบบ SMART แล้ว ให้เขียนเกณฑ์แต่อัน (เฉพาะเจาะจง วัดผลได้ สามารถบรรลุได้ เกี่ยวข้อง และมีกรอบเวลา) แล้วนำมารวมเป็นประโยคเดียวต่อ 1 เป้าหมาย ตัวอย่างเช่น
“ฉันต้องการลดน้ำหนักภายใน 6 เดือนข้างหน้า จำนวน 15 กิโลกรัม เฉลี่ยตกเดือนละ 2.5 กิโลกรัม ซึ่งเป็นไปได้ด้วยวิธีการออกกำลังกายวันละ 1 ชั่วโมงทุก 5 วันต่อสัปดาห์ ที่ฉันต้องการลดน้ำหนักเพราะฉันรู้สึกว่าน้ำหนักส่งผลต่อสุขภาพของฉัน ฉันอยากมีสุขภาพที่ดี”
ตัวอย่างเป้าหมาย SMART

ในกรณีที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นยังไง ลองมาดูตัวอย่างการตั้งเป้าหมายแบบ SMART เพื่อใช้เป็นตัวอ้างอิงได้
ตัวอย่างเป้าหมาย SMART สำหรับการออมเงิน
สมมติว่าเป้าหมายของเราคือการเริ่มออมเงินมากขึ้น
เป้าหมาย “ฉันต้องการออมเงิน 5,000 บาทต่อเดือนจนครบ 20 ปีข้างหน้า จะได้มีเงิน 1,200,000 บาท เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเกษียณ”
S (เฉพาะเจาะจง) = เราได้กำหนดจำนวนเงินที่จะออมได้คือ 5,000 บาทต่อเดือน
M (วัดผลได้) = เราสามารถติดตามจำนวนเงินที่ออมทั้งหมดได้ตลอดเวลา
A (สามารถบรรลุได้) = พิจารณาแล้วว่าจำนวนเงิน 5,000 บาทต่อเดือน สามารถออมได้จริง
R (เกี่ยวข้อง) = การออมจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการเกษียณ
T (มีกรอบเวลา) = เราได้ตั้งกรอบเวลาไว้แล้วว่าภายใน 20 ปี ควรมีเงินออมทั้งหมด 1,200,000 บาท
ตัวอย่างเป้าหมาย SMART สำหรับการเขียนหนังสือ
สมมติว่าเป้าหมายของเราคือการเขียนหนังสือ
เป้าหมาย “ฉันจะเขียนต้นฉบับของหนังสือให้เสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคมของปีหน้า โดยเริ่มเขียนตั้งแต่วันนี้วันละ 5 หน้า”
S (เฉพาะเจาะจง) = ระบุเจาะจงว่าต้องเขียนต้นฉบับ และให้เสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคมของปีหน้า เริ่มเขียนตั้งแต่วันนี้
M (วัดผลได้) = กำหนดจำนวนหน้า (5 หน้า) ที่ต้องเขียนต่อวันเพื่อให้เสร็จภายใน 31 ธันวาคมของปีหน้า
A (สามารถบรรลุได้) = เป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้เพียงเขียนวันละ 5 หน้า
R (เกี่ยวข้อง) = การเขียนต้นฉบับให้เสร็จ จะทำให้เราใกล้ความฝันที่จะเป็นนักเขียนอย่างเต็มตัวได้
T (มีกรอบเวลา) = เราได้ตั้งกรอบเวลาไว้ภายในวันที่ 31 ธันวาคมของปีหน้า ต้องเสร็จ
สรุป
การตั้งเป้าหมายที่ปราศจากเทคนิคที่ทรงประสิทธิภาพ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ ซึ่งหนึ่งในกรอบการตั้งเป้าหมายที่ทรงพลังและเรียบง่ายที่สุดคือ การตั้งเป้าหมาย SMART
เป้าหมาย SMART แบ่งเป็น 5 ลักษณะ คือ เฉพาะเจาะจง วัดผลได้ สามารถบรรลุได้ เกี่ยวข้องกับตัวเรา และถูกกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน
กุญแจสู่ความสำเร็จคือการรวมทั้ง 5 ลักษณะนี้เข้าด้วยกัน เมื่อเชื่อมโยงองค์ประกอบทั้งหมดเหล่านี้ เราจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการบรรลุทุกเป้าหมาย แล้วทุกเป้าหมาย ทุกความฝันของเราจะกลายเป็นความจริงได้
แล้วพบกันที่ปลายทางของความสำเร็จครับ! 💪
Leave a Comment