เคยรู้สึกว่าพยายามมากแค่ไหนก็ยังไม่สามารถออมเงินได้ไหมครับ?
พอพยายามใช้จ่ายให้น้อยลง แต่ก็มักมีเรื่องให้เราได้ใช้จ่ายเสมอ หรือหักห้ามใจตัวเองไม่ได้เลยที่จะใช้ซื้อของต่าง ๆ
การออมเงิน เก็บเงินไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับคนที่ไม่เคยทำมันมาก่อน แต่ข่าวดีเราทุกคนสามารถเรียนรู้และทำได้ ถ้ารู้เคล็ดลับ ซึ่งบทความนี้ผมมีเคล็ดลับที่จะนำมาแบ่งปันเพื่อช่วยให้สามารถเก็บเงิน ออมเงินได้มากขึ้นครับ
- 15 เคล็ดลับที่จะช่วยให้คุณออมเงินให้อยู่หมัด 💰
- กำหนดวงเงินใช้จ่าย
- ตั้งเป้าหมายการออม
- บันทึกค่าใช้จ่าย
- ออมเงินอัตโนมัติ
- บอกลาการเป็นหนี้
- แยกสิ่งที่จำเป็นกับสิ่งที่ต้องการให้ออก
- ชะลอการซื้อด้วยกฎ 30 วัน
- ลองหยุดใช้จ่าย
- จ่ายให้ตัวเองก่อน
- ใช้กลยุทธ์ 50/30/20
- ยกเลิกอะไรที่ต้องจ่ายเป็นรายเดือน
- ใช้พลังแห่งการถาม
- เวลาจะซื้ออะไรให้หาทางเลือกไว้เยอะ ๆ
- ยืมหนังสือห้องสมุด
- ดูเงินออมเติบโต
- บทสรุป
15 เคล็ดลับที่จะช่วยให้คุณออมเงินให้อยู่หมัด 💰
กำหนดวงเงินใช้จ่าย
หัวใจของการออมคือกำหนดวงเงินใช้จ่าย เพราะมันจะช่วยให้เราจัดลำดับความสำคัญของรายจ่ายและค้นหาความสมดุลระหว่างการใช้จ่ายและการออมได้
ทุก ๆ เดือน เราต้องกำหนดวงเงินที่จะใช้จ่าย เขียนออกมาให้หมดว่า จะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง จะใช้ไปกับอะไร สิ่งนี้จะช่วยวางกรอบการใช้จ่ายของเราได้ เช่น เดือนนี้มีงบเพื่อซื้อเสื้อผ้า 2,000 บาทนะ มีงบเพื่อซื้อหนังสือ 1,000 บาทนะ แล้วเราจะรู้อย่างชัดเจนว่าเดือนนี้ต้องใช้เท่าไหร่ จะเหลือออมเก็บเท่าไหร่ และพอสิ้นเดือนก็ให้เช็กว่าเราใช้จ่ายตามวงเงินที่กำหนดไว้ไหม
ตั้งเป้าหมายการออม

วิธีออมเงินที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งคือการนึกภาพว่าเรากำลังออมเงินไปเพื่ออะไร ซึ่งเป็นที่มาของการตั้งเป้าหมาย
หากต้องการแรงจูงใจ จงกำหนดเป้าหมายพร้อมจดบันทึกอย่างสม่ำเสมอ เช่น เป้าหมายคือต้องการลงเรียนคอร์สออนไลน์เพื่อพัฒนาตัวเอง ราคาคอร์ส 15,000 บาท ภายใน 3 เดือน ตอนนี้เราก็รู้เป้าหมายและรู้ว่าต้องออมเงินจำนวนเท่าไหร่ในแต่ละเดือน
เป้าหมายลงเรียนคอร์สคอร์สออนไลน์เพื่อพัฒนาตัวเอง ราคาคอร์ส 15,000 บาท ภายใน 3 เดือน ดังนั้นเราต้องออมเงินให้ได้เดือนละ 5,000 บาท
ตระหนักไว้เสมอว่า ถ้าจะออมอะไร อย่าออมอย่างไร้จุดมุ่งหมาย มันจะไม่ทรงพลังที่จะสร้างแรงจูงใจให้เราลงมือเก็บออมมากพอ
“มันไม่สำคัญว่าคุณหาเงินได้มากเท่าไหร่ แต่คุณเก็บเงินไว้ได้มากแค่ไหนต่างหากที่สำคัญ — Robert Kiyosaki”
บันทึกค่าใช้จ่าย
ขั้นตอนแรกในการเริ่มออมเงินคือการตระหนักรู้อย่างชัดเจนถึงจำนวนเงินที่เราใช้จ่ายไป การบันทึกค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นหัวใจแรกที่สำคัญที่สุดของการออม เช่น ค่ากาแฟ ของใช้ในบ้าน ค่ากับข้าว ค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน ค่า Netflix ค่ามือถือ ค่าหนังสือ ฯลฯ แล้วจัดรวมเป็นหมวดหมู่ และที่สำคัญคือการรีวิว ทุก ๆ อาทิตย์ ทุก ๆ เดือน ควรดูภาพรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของตัวเองว่าเราหมดไปกับอะไรบ้าง จะช่วยให้เรารู้สาเหตุของเงินที่ไหลออก แล้วหยุดการไหลนั้นหรือลดค่าใช้จ่ายบางอย่างที่ไม่จำเป็น เพื่อนำไปออมแทน
จงบันทึกค่าใช้จ่ายให้เป็นนิสัย เพียงแค่นิสัยนี้นิสัยเดียวสามารถส่งผลต่อฐานะทางการเงินของคนคนหนึ่งได้เลย เราสามารถเริ่มได้ด้วยการซื้อสมุดบันทึกสักเล่มหรือจะโหลด app ลงมือถือ (แนะนำวิธีนี้ เพราะมันง่ายและเร็ว แถมติดตัวเราตลอดเวลา)
ออมเงินอัตโนมัติ
โชคดีทุกวันนี้ การออมของเราเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาก เพราะเราสามารถออมเงินอัตโนมัติได้ หมายความว่าถ้าเราบังคับตัวเองไม่ได้ ก็ให้ระบบมาช่วย ซึ่งหนึ่งในหนังสือพูดถึงแนวคิดนี้ได้ดีคือ The Automatic Millionaire ผมได้ทำสรุปไว้ เข้าไปอ่านกันได้นะครับ อ่านสรุปหนังสือ The Automatic Millionaire
การตั้งให้โอนเงินอัตโนมัติจากบัญชีที่รับรายได้ไปบัญชีออมอัตโนมัติในทุก ๆ เดือน อาจจะเดือนละ 10-20% ขึ้นอยู่กับเรา แต่ขอให้ลองทำก่อน เดี๋ยวเราจะค่อย ๆ เพิ่มเปอร์เซ็นต์ไปเอง
จงไว้วางใจระบบ ตั้งค่าระบบเสร็จ แล้วอย่าไปสนใจมัน คิดเสียว่าไม่ได้มีเงินก้อนนี้เข้ามาในบัญชีเรา แค่นี้การออมของเราจะเป็นเรื่องง่ายมาก
บอกลาการเป็นหนี้

หากกำลังพยายามออมเงินแต่ยังคงมีภาระหนี้สินที่ต้องจ่ายจำนวนมาก ภารกิจแรกที่ต้องทำเลยคือ ขจัดหนี้ให้หมดให้ได้ เพราะหนี้สินปล้นรายรับที่แท้จริงของเรา
ถ้ารายรับแต่ละเดือนของเราไม่ถูกหักไปจ่ายหนี้พร้อมดอกเบี้ยแล้ว เราจะมีเงินเก็บ เงินออมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญชีวิตเราจะเบาและเครียดน้อยลงมาก เราจะมีอิสระ มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าตัดสินใจทำอะไรใหม่ ๆ เสี่ยง ๆ มากขึ้น
ให้เริ่มต้นด้วยการพยายามเคลียร์หนี้สินให้หมด แล้วการออมจะเป็นเรื่องง่ายดาย
“อย่าใช้จ่ายเงินของคุณก่อนที่คุณจะมีมัน — Thomas Jefferson”
แยกสิ่งที่จำเป็นกับสิ่งที่ต้องการให้ออก
ถ้าเราสามารถแยกสิ่งที่จำเป็นกับสิ่งที่เป็นเพียงความต้องการได้นั้น เราจะสามารถเก็บเงิน ออมเงินได้มากขึ้นเยอะ เพราะถ้าเราตรวจสอบค่าใช้จ่ายในแต่ละวันของเรา เราจะพบว่าส่วนใหญ่ที่เราใช้หมดไปกับสิ่งที่เป็นเพียงความต้องการ ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น
หากไม่แน่ใจว่าสิ่งของนั้นจำเป็นหรือเป็นเพียงสิ่งที่ต้องการ ให้ลองเลิกใช้สิ่งนั้นสักพัก ถ้าหลังจากนั้นเราไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากมันจริง ๆ นั่นอาจเป็นสิ่งที่จำเป็น
เคล็ดลับคือ เวลาจะตัดสินใจซื้ออะไร ให้ถามตัวเอง 3 ครั้งว่า “สิ่งนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีหรือเป็นแค่สิ่งที่เราต้องการ?”
“ความร่ำรวยไม่ได้เกิดจากการมีทรัพย์สมบัติมากมาย แต่เกิดจากการมีความต้องการเพียงเล็กน้อย — Epictetus”
ชะลอการซื้อด้วยกฎ 30 วัน
วิธีหนึ่งในการหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายเกินตัวคือ ให้ตัวเองมีช่วงเวลาพักระหว่างเวลาที่กำลังตัดสินใจจะซื้อ เช่น เมื่อจะซื้อของออนไลน์ ลองใส่สินค้าลงในตะกร้าไว้แล้วอย่าเพิ่งกดชำระเงิน ปล่อยตัวเองให้ได้มีเวลาคิดทบทวนมากขึ้น อาจจะตั้งแต่ 1 วัน หรือ 48 ชั่วโมง หรือ 1 อาทิตย์ หรือถ้าให้ดี 1 เดือน แล้วเราจะพบว่าจริง ๆ เราอาจไม่ได้ต้องการมันขนาดนั้น มันอาจจะไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น
ลองหยุดใช้จ่าย
เคล็ดลับนี้เป็นวิธีที่เร็วที่สุดสำหรับการออม
ลองชาเลนจ์ตัวเองดูไหมครับ ลองดูสักครั้งในชีวิต เราจะทำได้ไหม คิดเสียว่ามันเป็นการท้าทายตัวเอง หยุดซื้อของที่ไม่จำเป็นเป็นเวลา 1 เดือน หรือถ้าให้ดีเราสามารถกำหนดว่าทุก ๆ ปี จะชาเลนจ์ตัวเองหยุดซื้อของที่ไม่จำเป็นเป็นเวลา 1 เดือน
จ่ายให้ตัวเองก่อน

การจ่ายให้ตัวเองหมายความว่าหลังจากมีรายได้เกิดขึ้น สิ่งแรกที่เราต้องทำคือ การหักเงินจ่ายเพื่ออนาคตของตัวเอง เช่น หักเงิน 10% ทันทีหลังมีรายได้ เพื่อนำไปฝากออมระยะยาวหรือเก็บเป็นเงินสำรอง หลังจากจ่ายเงินให้ตัวเองแล้วเราถึงจะสามารถนำเงินไปจ่ายกับสิ่งอื่น ๆ ได้
พูดง่าย ๆ คือลงทุนให้ตัวเองก่อน จึงสามารถไปใช้จ่ายอย่างอื่นได้
ให้ตั้งเป็นกฎเลยว่า ทุกรายรับ จะจ่ายให้ตัวเองก่อนเสมอ นี่คือคำมั่นสัญญาที่เราต้องให้ตัวเอง
“อย่าออมหลังจากเงินที่เหลือใช้ แต่จงใช้เงินหลังจากการเก็บออม — Warren Buffett”
ใช้กลยุทธ์ 50/30/20
หนึ่งในกลยุทธ์ที่จะช่วยให้บริหารจัดการเงินและมีเงินออมมากขึ้นวิธีหนึ่งคือ กลยุทธ์ 50/30/20 เป็นการแบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่ายตามลำดับความสำคัญ โดยหลังจากที่มีรายรับเข้ามาให้แบ่งเงินจำนวน 50% สำหรับสิ่งที่จำเป็น แบ่ง 20% สำหรับสิ่งที่ต้องการ และ 20% เพื่อการออม และชำระหนี้สิน เช่น รายรับเข้ามา 15,000 บาท 7,500 ใช้สำหรับสิ่งที่จำเป็น 4,500 และ 3,000 เพื่อการออมและหนี้สิน
ยกเลิกอะไรที่ต้องจ่ายเป็นรายเดือน
หลายคนคงใช้บริการสินค้าพวกที่ต้องชำระเงินเป็นรายได้ เช่น ค่ามือถือรายเดือน Netflix, Spotify หรือสมาชิก ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เราต้องกลับมาทบทวนว่ามีอันไหนที่เราไม่ได้ใช้งานมันอย่างคุ้มค่าจริง ๆ ถ้ามีก็ขอให้ยกเลิกมันก่อน ถ้าต้องการใช้มันจริง ๆ ค่อยกลับมาใหม่ก็ได้ เช่น ผมจะสมัคร Netflix เฉพาะเดือนที่มีเวลาดูเยอะ ๆ แล้วดูรวดเดียวมากกว่าที่จะสมัครเป็นรายเดือนตลอดทั้งปี มันช่วยให้ผมประหยัดเงินได้เยอะเลยครับ
หรืออีกวิธีหนึ่งถ้าจำเป็นต้องใช้เวลา อาจจะหาร account กับเพื่อนหรือครอบครัวก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายเราได้เช่นกัน
ใช้พลังแห่งการถาม
เวลาจะซื้ออะไร อย่าอายที่จะถามว่ามีส่วนลดพิเศษไหม ถ้าซื้อ 2 ชิ้นมีส่วนลดเพิ่มไหม หรือตอนนี้มีโปรโมชั่นอะไรพิเศษไหม
ถามไว้ก่อน ไม่เสียหาย เพราะเราในฐานะลูกค้า เรามีสิทธิ์ที่จะมองหาราคาที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง และความจริงบางร้านเขาก็ทำราคาเผื่อลูกค้าขอส่วนลดอยู่แล้ว ดังนั้น อย่ากลัวที่จะถาม
เวลาจะซื้ออะไรให้หาทางเลือกไว้เยอะ ๆ
หลายคนคงเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ ซื้อกับอีกร้าน แต่สักพักมาเห็นอีกร้านหนึ่งขายถูกกว่า ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจจะซื้ออะไร โดยเฉพาะสินค้าที่มูลค่าสูง ยอมเสียเวลาสักนิด ให้ลองหาข้อมูล เพื่อเพิ่มทางเลือกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วเราจะค้นพบว่ามีบางร้านจะขายถูกกว่าร้านอื่นเสมอ เราต้องหาร้านนั้นให้เจอ เราจะได้ราคาที่ดีที่สุด จะช่วยประหยัดเงินเรา มีเงินออมมากขึ้น
“การเป็นนักช้อปปิ้งที่ชาญฉลาดเป็นก้าวแรกสู่ความร่ำรวย — Mark Cuban”
ยืมหนังสือห้องสมุด
ข้อนี้สำหรับคอรักการอ่าน สำหรับหนังสือบางเล่ม เราอาจจะไม่ต้องซื้อก็ได้ เราสามารถยืมจากห้องสมุดแทนได้ จะช่วยให้เราประหยัดได้เยอะ
ผมก็มีใช้วิธีนี้เช่นกัน เล่มไหนที่เราไม่ได้ต้องการเก็บไว้ แค่อยากอ่านเนื้อหาบางส่วน หรือหนังสือที่หายาก ๆ ผมก็จะใช้วิธีการยืม ส่วนยืมที่ไหน ผมใช้บริการ TK Park แนะนำครับ ดีมาก ๆ ครับ สำหรับต่างจังหวัดมีบริการส่งต่างจังหวัดด้วย (ยืมทีละ 10 เล่ม จะช่วยประหยัดเงินได้อีกเยอะเลยครับ)
ดูเงินออมเติบโต

ตรวจสอบงบประมาณและความคืบหน้าของตัวเองทุก ๆ เดือน สิ่งนี้จะช่วยให้เรารู้ว่าเรากำลังมีปัญหาอะไรอยู่หรือเปล่า ช่วยให้เราเข้าไปแก้ไขมันได้อย่างรวดเร็ว และสิ่งที่สำคัญ เวลาเราได้เห็นเงินออมเราได้เติมโต เราจะรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง มีแรงบันดาลใจที่จะออมมากขึ้น และมีความสุขมากขึ้น (ประสบการณ์ส่วนตัว แปลกดีนะครับ ผมมีความสุขเวลาเห็นเงินงอกเงยมากกว่าที่จะได้ใช้มัน)
บทสรุป
ทักษะการออมเงินเป็นหนึ่งในทักษะพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยสร้างความมั่งคั่งให้เราในอนาคต ยิ่งเราเรียนรู้วิธีการออมเงินได้มากเท่าไหร่ ชีวิตของเรามีความสงบและความสุขมากขึ้นเท่านั้น เพราะเราจะรู้ตัวว่า ถึงแม้จะเกิดเหตุการณ์อะไรที่ไม่คาดคิด อย่างน้อยเราก็มีเงินก้อนที่พร้อมจะนำมาใช้ได้
ซึ่งด้วยการเป็นทักษะ หมายความว่า ใคร ๆ ก็สามารถฝึกฝนได้เพียงแค่เราต้องวินัยนำ 15 ข้อนี้ไปปรับใช้หรืออาจจะเลือกไม่กี่ข้อนำไปใช้ก่อนก็ได้ เพราะแค่ทำไม่กี่ข้อ ก็ถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญในชีวิตแล้ว
ก่อนจากกัน ผมอยากแบ่งปันประโยคที่ผมชื่นชอบมากของ W. Clement Stone “ถ้าคุณไม่สามารเก็บเงินไว้ได้ ก็แปลว่าในตัวคุณไม่มีเมล็ดพันธุ์แห่งความยิ่งใหญ่”
ขอให้มีชีวิตที่มีความสุขและมีความหมายพร้อมร่ำรวยมั่งคั่งนะครับ 🙌
Leave a Comment