หนึ่งในทักษะที่สำคัญที่สุดต่อทุกความสำเร็จคือ การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ และเป็นทักษะที่ใครสามารถเชี่ยวชาญจะได้เปรียบคนอื่นมหาศาล ในยุคที่ทุกอย่างหมุนไปอย่างรวดเร็ว มีสิ่งใหม่ ๆ ถาโถมมาใส่เราทุกวี่ทุกวัน ถ้าเราเป็นคนที่ไม่เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในไม่ช้าเราจะพบว่าเราตามโลกไม่ทัน และจะถูกทิ้งไว้ข้าง
แต่เมื่อเริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แล้ว หลายคนจะรู้สึกว่าเราใช้เวลานานเกินไปในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หรือเปล่านะ และคิดไปว่าเราคงเป็นคนที่เรียนรู้ช้าแน่ ๆ
อุปสรรคใหญ่ที่สุดสำหรับคนที่เรียนรู้สิ่งใหม่คือ การเรียนรู้ช้า
ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเพราะตัวเราหรอกที่เรียนรู้ได้ช้า แต่เป็นเพราะกลยุทธ์ของเรายังไม่ได้ประสิทธิภาพมากพอต่างหาก
วันนี้ผมจึงแบ่งปัน 4 เหตุผลทำไมเราถึงเรียนรู้ช้าที่จะทำให้เราเข้าใจและรู้ว่าจะปรับให้กลายเป็นคนที่เรียนรู้ได้เร็วได้อย่างไร (อ้างอิงข้อมูลมาจากที่นี่ Life Hack)
4 เหตุผลทำไมถึงเราถึงเรียนรู้ได้ช้า
ขาดจดจ่อ

การจดจ่อเป็นกุญแจสำคัญในการเรียนรู้ หากเราไม่ใส่ใจกับสิ่งที่กำลังพยายามจะเรียนรู้อย่างเต็มที่ การเรียนรู้จะเป็นสิ่งที่ยากกว่าปกติและช้า
หลายคนคิดว่าเป็นเพราะเราเรียนรู้ได้ช้าแน่ ๆ แต่ความจริงตอนเรียนรู้เราแค่ฟุ้งซ่าน ไม่มีการจดจ่อแค่นั้นเอง
เมื่อเราพัฒนาทักษะการจดจ่อ เราจะแปลกใจว่าเราสามารถฝังความรู้และทักษะใหม่ ๆ ให้แก่สมองได้อย่างรวดเร็วขึ้นมาก
แล้วเราจะพัฒนาการจดจ่อได้ยังไง?
การจดจ่อเกิดได้ง่ายขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เงียบและปราศจากสิ่งรบกวน
เราลองอ่านบทความนี้ในสถานที่ที่มีเสียงดังรบกวน หรือลองอ่านหนังสือพร้อมส่งข้อความไป ๆ มา ๆ ทุก 2-3 นาที เราจะพบว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะจดจ่อได้
อย่าสลับงานทำไป ๆ มา ๆ
การทำงานหลายอย่างพร้อมกันเป็นเรื่องที่ไม่มีอยู่จริง สมองของเราไม่สามารถทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความรู้ ความเข้าใจสองอย่างในเวลาเดียวกันได้ สิ่งที่เราคิดว่าเป็นการทำงานหลายอย่างพร้อมกันเป็นแค่การสลับงานไปมาระหว่างกิจกรรมหนึ่งไปอีกกิจกรรมหนึ่งเท่านั้น
บางคนอาจจะสลับเปลี่ยนงานได้เก่งกว่าคนอื่น แต่โดยรวมแล้ว การสลับเปลี่ยนงานไปมาเป็นกลยุทธ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เราเสียสมาธิ และเมื่อถูกสิ่งดึงความสนใจไป ต้องใช้เวลาหลายนาทีในการดึงพลังงานกลับมาจดจ่อได้อีกครั้ง ทำให้สมองต้องใช้พลังงานสูงมากกว่าปกติ ดังนั้น เราจึงควรหลีกเลี่ยงกลยุทธ์การสลับเปลี่ยนสิ่งที่ทำอยู่ไปมา
จะจดจ่อได้ง่ายขึ้นเมื่อร่างกายและจิตใจได้พักผ่อนอย่างเต็มที่
การกินที่ไม่ดี การอดนอน นิสัยที่ไม่ดีต่อสุขภาพส่งผลต่อความสามารถในการจดจ่อของเรา หากต้องการให้สมองมีการจดจ่อและอยู่ในสภาพที่ดีในการเรียนรู้ ต้องรักษาร่างกายให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ด้วยการนอนหลับให้อิ่ม รับประทานอาหารที่ดีขึ้น ดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยหรืองด และดื่มน้ำให้เยอะขึ้น
สมองของเราจะตอบแทนคุณด้วยความสามารถในการจดจ่อและการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ความคิดและความเชื่อมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเรียนรู้

ในหนังสือ Mindset: ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตาที่เขียนโดย Carol Dweck นักจิตวิทยาชื่อดังระดับโลกได้อธิบายถึงอิทธิพลของทัศนคติที่สามารถส่งผลต่อการเติบโตของเรา ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม
คนที่มีความคิดตายตัว (Fixed Mindset) มีความเชื่อที่ว่าเราเกิดมาพร้อมกับคุณลักษณะที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ มักจะคิดในแง่ว่า “จะมีหรือไม่มี” เท่านั้น ซึ่งความคิด ความเชื่อเหล่านี้สามารถขัดขวางความก้าวหน้าของพวกเขา ทำให้พวกเขาหยุดยอมจำนนเพราะเชื่อว่าไม่สามารถพัฒนาหรือเรียนรู้ได้
คนที่มีความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) มีความเชื่อว่าเราสามารถพัฒนาและปรับปรุงความสามารถของเราผ่านความขยันพากเพียรและความกระตือรือร้น พวกเขาจะเชื่อว่าเราสามารถเป็นอะไรก็ได้ ถ้าเรามีความเพียรพยายามมากพอ ซึ่งด้วยความเชื่อนี้เอง ทำให้จิตใจของพวกเขาเปิดกว้าง พร้อมรับและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา
ดังที่ Henry Ford เคยพูดไว้ว่า “ไม่ว่าคุณจะคิดว่าคุณทำได้หรือคิดว่าทำไม่ได้ คุณก็คิดถูก” หมายความว่า เราเองคือผู้กำหนดความสำเร็จหรือความล้มเหลวของตนเอง ถ้าเราคิดว่าทำได้ เราจะประสบความสำเร็จหรือหาวิธีที่จะทำให้สำเร็จ แต่ถ้าเราคิดว่าทำไม่ได้ ความคิดลบนี้จะนำเราไปสู่ความล้มเหลว
และมันเป็นเรื่องจริงเมื่อพูดถึงการเรียนรู้ หากเราเชื่อว่าความสามารถในการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ติดตัวมา เช่น ถ้าเราไม่มีก็คือไม่สามารถพัฒนาได้ นี่เป็นความเชื่อที่ผิด ถ้าเรายังมีความเชื่อเช่นนี้ มันจะทำให้การเรียนรู้ของเราช้าลง แย่ลงในที่สุด เราก็จะกลายเป็นคนแบบอย่างที่เชื่อจริง ๆ ว่า “เราไม่สามารถเรียนรู้ได้หรอก”
จงเชื่อว่าเราทุกคนสามารถเรียนรู้อะไรก็ได้ และเรียนรู้ได้เร็วด้วย เพียงแค่เราต้องรู้วิธีการ เพราะไม่ใช่เราไม่ได้ไม่เก่ง เราแค่ไม่รู้วิธี นี่คือความแตกต่างระหว่างคนที่เรียนรู้ได้เร็วกับคนที่เรียนรู้ช้า
ความคาดหวังที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง ทำให้เราเชื่อว่าเราเป็นคนเรียนรู้ช้า

เมื่อเราต้องการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เรามักคิดว่ากระบวนการเรียนรู้นั้นจะดำเนินไปอย่างราบรื่น ไม่มีปัญหาอะไร แต่ความจริงบางครั้งการเรียนรู้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย มีอุปสรรคโผล่เข้ามา มีความเครียด และช้ากว่าที่คิด
เรามักหลงลืมความรู้สึกแบบนี้เมื่อเราโตเป็นผู้ใหญ่ เราไม่ได้ทำอะไรใหม่ ๆ เราไม่ได้ก้าวไปสู่ดินแดนที่เราไม่คุ้นชิน เราทำงานที่ทำได้ดีอยู่แล้ว ทำสิ่งเดิม ๆ อยู่ทุกวี่ทุกวัน จนอาจจะลืมไปแล้วว่าต้องรู้สึกยังไงและต้องใช้เวลา พลังงานมากแค่ไหนที่ต้องเริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อเราคาดหวังไม่ตรงกับความเป็นจริงว่าเราควรเรียนรู้ได้เร็วแค่ไหน เราก็จะโทษตัวเอง คิดไปเองว่าเราคงเป็นคนที่เรียนรู้ได้ช้า เราไม่มีความสามารถเลย เราไม่ฉลาด
ความคาดหวังที่ไม่ตรงตามความจริงของเราเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้และความเร็วในการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นคนที่เรียนรู้ได้ช้า ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ก็ตาม
ดังนั้น เราต้องคอยตรวจสอบความคาดหวังของเราอยู่เสมอ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้พูดคุยกับคนที่เชี่ยวชาญหรือมีความรู้ด้านที่เรากำลังเรียนรู้อยู่ เพื่อให้มีมุมมองที่ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด เพื่อเราจะได้วิเคราะห์เวลาและพลังงานที่ควรใช้ในการทุ่มเทเรียนรู้มัน
สิ่งที่สำคัญควรจะตระหนักเสมอว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการระยะยาว บางคนไปได้เร็วกว่าในช่วงเริ่มต้น แต่จะช้าลงในภายหลังหรือบางคนช้าในเริ่มต้นแต่ไปได้เร็วไปช่วงหลัง
ก่อนเรียนรู้อะไร จงตรวจสอบ สอบถามคนที่เชี่ยวชาญด้านนั้นแล้ว เพื่อเราจะได้รับรู้ข้อเท็จจริงและคาดหวังได้อย่างเหมาะสม
การเรียนรู้ครั้งก่อนส่งผลต่อความเร็วในการเรียนรู้ครั้งใหม่

เราคิดว่าใครจะเรียนรู้เกี่ยวกับการวิ่งมาราธอนได้เร็วกว่ากัน ระหว่างคนที่ไม่เคยวิ่งเลยกับคนที่วิ่งเป็นประจำทุก ๆ วัน?
แน่นอนคนที่เคยวิ่งมาก่อนย่อมเรียนรู้ได้เร็วกว่าคนที่ไม่เคยวิ่งมาก่อน
การเรียนรู้ทำงานอย่างนี้ การเรียนรู้ครั้งก่อนสามารถส่งผลต่อความเร็วในการเรียนรู้ครั้งใหม่ได้
คนที่วิ่งเป็นประจำย่อมมีพื้นฐานด้านการวิ่ง เพียงแค่ไปเรียนรู้วิธีคิดและวิธีฝึกการวิ่งมาราธอน แป๊บเดี๋ยวก็สามารถเรียนรู้ เข้าใจและพร้อมฝึกได้แล้ว
สมองของเราทำงานเหมือนเสาเข็ม ทุกสิ่งที่เราเรียนรู้มาก่อน จะทำหน้าที่เป็นฐานที่จะรองรับการสร้างสิ่งใหม่ ๆ ดังนั้น การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอาจจะเป็นเรื่องที่ทำให้เข้าใจผิดได้ เพราะเราไม่รู้ภูมิหลังหรือสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ในอดีต เราอาจจะคิดว่าเราเรียนรู้ได้ช้าเมื่อเทียบกับคนอื่น เพื่อนร่วมชั้นหรือเพื่อนร่วมงาน แต่ความจริงพวกเขาอาจมีความรู้ มีทักษะอยู่แล้วที่ทำให้พวกเขาเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้เร็ว
ความรู้เดิมจะเป็นฐานสำหรับการเรียนรู้สิ่งใหม่
กลยุทธ์ในการเป็นคนที่เรียนรู้ได้เร็วขึ้นคือ อย่าหยุดเรียนรู้ ยิ่งเราเรียนรู้มากเท่าไหร่ เราก็สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น
ยิ่งเรียนรู้ ยิ่งเรียนรู้ได้เร็ว ยิ่งเรียนรู้ได้เร็ว ยิ่งก้าวได้เร็วกว่าคนอื่น ยิ่งก้าวได้เร็วกว่าคนอื่น ยิ่งมีประสบการณ์มากกว่าคนอื่น ยิ่งมีประสบการณ์มากกว่าคนอื่น ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่น
บทสรุป
คนส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนรู้เร็วหรือช้าโดยธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องของหลักคิดและวิธีการทำงานของสมอง ถ้าเราอยากเรียนรู้ได้เร็วขึ้น เราเพียงแค่ต้องเรียนรู้วิธีใช้สมองให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพียงเท่านั้น ซึ่งมีทั้งหมด 4 เหตุผลที่ทำให้เราเรียนรู้ได้ช้า
- ขาดทักษะการจดจ่อ
- มีความคิดและความเชื่อที่ปิดกั้นเกี่ยวกับการเรียนรู้
- สร้างความคาดหวังที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง
- เราไม่รู้ว่าการเรียนรู้ในอดีตส่งผลต่อการเรียนรู้ครั้งใหม่
ลองปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการเรียนรู้ตาม 4 ข้อนี้ แล้วเราจะพบว่าเราเรียนรู้ได้เร็วมากกว่าที่เราคิดไว้
Leave a Comment