👋 สิ่งที่ได้เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้
“นิสัยผัดวันประกันพรุ่ง” เป็นธรรมชาติของมนุษย์เรา เราวิวัฒนาการมาเพื่อให้ชีวิตเราอยู่กับสิ่งที่คุ้นเคยเสมอ มันคือ ส่วนหนึ่งของเรา แต่ถ้าเราอยู่แต่กับสิ่งที่คุ้นเคย และไม่เริ่มลงมือทำสิ่งใหม่อะไรเลย การเติบโต การพัฒนาย่อมไม่เกิดขึ้น
การเริ่มต้นนี่แหละ เป็นสิ่งที่ยากที่สุด เป็นช่วงที่ภาวะสมอง ความคิดเรามีแรงต้านมากที่สุด แต่ใช่ว่าเราจะชนะมันไม่ได้ หนังสือเล่มนี้มีเทคนิคมากมายที่จะช่วยเราออกเริ่มต้นสตาร์ต และดึงเอาศักยภาพที่เรามีออกมาใช้ได้อย่างที่เราควรจะเป็น
😎 1 ประโยคที่ชอบที่สุดของหนังสือเล่มนี้
“ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการลงมือทำอะไรบางอย่าง“
สรุปหนังสือ เปลี่ยนเดี๋ยวก่อนเป็นตอนนี้ (60 Second Self-Starter) เขียนโดย Jeff Davidson
- ไม่พร้อม ไม่เก่ง ไม่มีกำลังใจ ไม่มีเวลา สุดท้ายก็แค่ ไม่เริ่ม
- การผัดวันประกันพรุ่งเป็นปัญหาสากล อันที่จริงเป็นปัญหาของมนุษยชาติมาเนิ่นนานแล้วด้วยซ้ำ
- นิยามคำว่า self-starter หรือ นักออกสตาร์ต คือ “บุคคลที่แสดงออก ซึ่งการริเริ่มในปริมาณไม่ธรรมดา”
- ถ้าอยากจะเป็นนักออกสตาร์ต เราจำเป็นต้องเอาชนะสิ่งหนึ่ง คือ พฤติกรรมการผัดวันประกันพรุ่ง
- การผัดวันประกันพรุ่งเป็นภาวะปกติอย่างหนึ่งของมนุษย์
- พฤติกรรมการผัดวันประกันพรุ่ง เป็นพฤติกรรมของการผลักอะไรบางอย่างไปอยู่ในวันเวลาข้างหน้า
- คนผัดวันประกันพรุ่งมักมีความล้มเลิกง่าย และเร็วเกินไป นิยมความสมบูรณ์แบบที่ต้องการมีอิสระในการทำอะไร ๆ และต้องการยอมรับสูง สรุปท้ายสุดก็คือ เป็นพวกกลัวความล้มเหลว
- สมการของการทำนายการผัดวันประกันพรุ่งของคนเรา: U ของงาน = E x V/I x D
- ความน่าพึงปรารถนา หรือความมีประโยชน์ (Desirability หรือ Utility – U)
- ความคาดหวังความสำเร็จ (Expectation of success – E)
- คุณค่าของการทำให้ลุล่วง (Value of completion – V)
- การไม่รั้งรอ (Immediacy – I)
- ความรู้สึกอ่อนไหวต่อความล่าช้า (Sensitivity – D)
- การไม่สามารถที่จะเริ่มเป็นปัญหาของทุกคน
- การผัดวันประกันพรุ่งเป็นนิสัยที่สร้างปัญหาให้คนเรามาตั้งแต่ยังอาศัยอยู่ในถ้ำนุ่งห่มหนังสัตว์
- เมื่อใดก็ตามที่เรายอมให้งานหรือโปรเจกต์ที่สำคัญน้อยกว่ามาขัดขวางงานหรือโปรเจกต์ที่สำคัญมาก นั่นคือ เรากำลังผัดวันประกันพรุ่ง (คำว่า โปรเจกต์หรืองาน หมายถึง วัตถุประสงค์ หรือผลลัพธ์สุดท้ายที่ปรารถนาอย่างใด อย่างหนึ่งในอนาคตอันใกล้)
- การผัดวันประกันพรุ่ง คือ ปฏิกิริยาตอบสนองต่อทุกสิ่งที่มาช่วงชิงความสนใจของเรา
กรอบความคิดที่ถูกต้อง
- ลองใช้วิธีอื่นในการรับมือกับงานด้วยมุมมองที่ต่างไปดูบ้าง
- ซื่อสัตย์กับตัวเอง และยอมรับนิสัยผัดวันประกันพรุ่งของตัวเอง
- วิธีงัดข้อกับการผัดวันประกันพรุ่งที่ดีที่สุด คือ เผชิญหน้าแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน โดยค้นหาว่าจริง ๆ แล้วอะไรกันแน่ที่กีดขวางเราอยู่
- เหตุผลที่คนเราผัดวันประกันพรุ่ง
- กลัวไม่ได้การยอมรับ ความล้มเหลว ข้อผิดพลาด หรือการเข้าใจอะไรผิด
- กลัวเจอกับอะไรไม่รู้ที่ผูกมัดตัวเรา เผยความสามารถที่มีไม่พอของเรา
- กลัวต้องทำงานที่ยากเกินไป ต้องเจอปัญหา ทำได้ต่ำกว่าระดับดีเยี่ยม
- กลัวถูกปฏิเสธ เลือกข้างผิด และถูกวิพากษ์วิจารณ์
- ภารกิจของเรา คือ หาเหตุผลที่เป็นรากของความกลัวที่เป็นเหตุผลให้เราผัดวันประกันพรุ่ง
- จำไว้ว่า ถ้างานนี้สำคัญ มันคุ้มค่าที่จะเริ่ม ต่อให้ล้มเหลว
- ลองยอมให้ตัวเราเริ่มต้นอย่างไม่ค่อยสง่างามบ้าง ทำต่อไปแม้จะคืบหน้าไปอย่างตะกุกตะกัก
- บางครั้งที่เราเริ่มลงมือไม่ได้ เพราะเรายังไม่ได้ระบุปัญหาคาใจ
- เรารู้สึกสองจิตใจสองกับงานนั้น
- เราคิดว่างานนั้นไม่สำคัญ หรือไม่คุ้มแก่เวลาของเรา
- เมื่อเราระบุเหตุผลที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังการผัดวันประกันพรุ่งได้ เราก็จะมีโอกาสที่จะเอาชนะเหตุผลเหล่านั้นมากกว่าเวลาที่ไม่อธิบายกับตัวเองให้แน่ชัด
- นิยามงานยากนั้นเสียใหม่ เปลี่ยนจากมองว่างานนั้นมันยาก ให้วางกรอบความคิดใหม่ว่ามันเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความรุ่งเรือง การเติบโต ความก้าวหน้าทางอาชีพ และความสุขสงบในชีวิตครอบครัว
- โยงความหมายกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า เมื่อผูกโยงความหมายของงานเข้ากับความหมายบางอย่าง เราก็จะเกิดแรงฮึดในการเริ่มต้น
- หยิบกระดาษ แล้วร่างแผนภาพ หรือลากเส้นแสดงลำดับว่าตัวเราส่งผลกระทบต่อคนที่อยู่รอบตัวอย่างไร คนเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อคนอื่น ๆ และต่อ ๆ ไปอย่างไร แล้วจดจำภาพนั้นไว้ให้ขึ้นใจ
- ใคร่ครวญถึงความสำเร็จที่ผ่านมา ถ้าเรามีปัญหากับการเริ่ม จงไปขุด คำขอบคุณ คำชมต่าง ๆ ที่ได้รับในอดีต เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเริ่มต้น
- การมโนภาพช่วยให้เราทำได้ดีขึ้น และคืบหน้าเร็วขึ้น นึกภาพตัวเองทำสำเร็จในทุกย่างก้าว ตั้งแต่เริ่มต้นลงมือทำงาน ระหว่างทำงาน จนถึงความสำเร็จ
- ลองนึกถึงใครสักคนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เขาคนนั้นจะทำอย่างไรเมื่อมีงานเหมือนของเรามาอยู่ตรงหน้า มันจะช่วยให้เราเริ่มต้นลงมือได้ง่ายขึ้น
- สัมผัสความกลัว และเดินหน้าต่อ เมื่อเราซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง (กับความกลัว) แล้วเรามักจะเอาชนะความกลัวและอุปสรรคได้
- จงอนุญาตให้ตัวเองรู้สึกกลัว แต่ก็อนุญาตให้ตัวเองกล้าที่จะลงมือทำสิ่งนั้น
- ก่อนที่รถจะเครื่องติด เราต้องบิดหมุนกุญแจ ถ้าไม่ได้ใช้สายไฟเชื่อมสตาร์ตน่ะนะครับ เช่นเดียวกัน ก่อนที่จะพุ่งผ่านอาการผัดวันประกันพรุ่ง เราต้องรู้สึกกลัวก่อน เมื่อมองมันเป็นกิจวัตรเสีย ความรู้สึกกลัวจะกลายเป็นกลไกสำคัญในกระบอกปืนใหญ่ของเรา
- ก่อนที่รถจะเครื่องติด ต้องบิดหมุนกุญแจ เช่นเดียวกัน ก่อนที่เราจะพุ่งผ่านอาการผัดวันประกันพรุ่ง เราต้องรู้สึกกลัวก่อน
- ถ้าเรากลัวที่จะเริ่มทำสิ่งใหม่ จงปล่อยให้ตัวเรารู้สึกกลัวที่เกิดขึ้น ปล่อยตัวเองไปกับมัน พร้อมเริ่มลงมือทำไปด้วย
- การเขียนความคิดลงบนกระดาษ ช่วยบรรเทาความกลัวและความรู้สึกไม่แน่ใจต่าง ๆ ได้
- เลิกใช้ภาษาที่สร้างข้อจำกัด เปลี่ยนคำว่า “ฉันควร ฉันต้อง ฉันน่าจะ” เป็น “ฉันเลือก ฉันอยากจะ ฉันจะ” เช่น ฉันต้องทำงานชิ้นนี้ให้เสร็จวันอังคารนี้ -> ฉันเลือกที่จะทำงานชิ้นนี้ให้เสร็จภายในวันอังคาร
- ระวังสิ่งที่พูดกับตัวเอง บทสนทนากับตัวเอง ไม่ต่ำกว่า 80% เรามักจะบอกสิ่งแย่ ๆ กับตัวเอง
- ป้อนข้อความดีให้ตัวเอง จะช่วยให้เราเริ่มต้นได้ง่ายขึ้น เช่น
- ฉันเลือกที่จะรู้สึกว่างานนี้จะเสร็จอย่างสบาย ๆ
- ฉันเลือกที่จะทำงานนี้จนเสร็จอย่างสมบูรณ์อย่างมีมาตรฐาน
- ฉันเลือกที่จะทำงานนี้ให้สุดความสามารถ ในทุกแง่มุมของงาน
- ฉันเคยรับมือกับสถานการณ์ที่ยากกว่านี้ได้อย่างดี
- พรุ่งนี้มันจะกลายเป็นของกล้วย ๆ
- เราต้องระวังสิ่งที่เราบอกกับตัวเองให้ดี การใช้คำพูดที่ให้กำลังใจและเป็นเชิงบวกในห้วงความคิดของเรา จะช่วยให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น มีความเครียดน้อยลง และรู้สึกดีกับตัวเองขึ้น
เตรียมตัวให้พร้อมชนะ
- เรื่องสำคัญ คือ เรื่องไม่กี่เรื่องในชีวิตที่สำคัญต่อเรา
- เป้าหมาย คือ ถ้อยคำที่บอกอย่างเจาะจงว่า เราอยากทำอะไรสำเร็จ และสำเร็จเมื่อไร
- การตั้งเป้าหมาย และการบรรลุเป้าหมายอย่างที่วาดฝัน จะไม่สามารถเติมเต็มได้ ถ้าเป้าหมายนั้นไม่ได้เกื้อหนุนเรื่องสำคัญที่เราเลือกไว้
- เรื่องสำคัญ 1 เรื่อง อาจมีเป้าหมายมากกว่า 1 อย่างมาเกี่ยวข้อง เช่น ถ้าการเป็นนักดนตรีที่ประสบความสำเร็จ คือ เรื่องสำคัญในชีวิต เราอาจตั้งเป้าหมายว่า เริ่มฝึกฝนเล่นดนตรีทุกวัน ทุกเช้า ฟังดนตรีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่งเพลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นต้น
- ตัวอย่างการตั้งเป้าหมายที่ดี
- ออกกำลังกาย 30 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เริ่มวันนี้ เพื่อมารองรับเรื่องสำคัญคือ : ร่างกายแข็งแรง
- เพิ่มรายได้เป็น 40,000 บาทต่อเดือน ในปีหน้า เพื่อมารองรับเรื่องสำคัญคือ : อิสระทางการเงิน
- ตัวอย่างการตั้งเป้าหมายที่แย่
- ออกกำลังกายให้ได้มากที่สุด
- ต้องมีอิสรภาพทางการเงินให้เร็วที่สุด
- ถ้าเราพบว่าตัวเองผัดวันประกันพรุ่ง มักเป็นเพราะเราไม่ได้ระบุเป้าหมายอย่างดีพอ
- จงทำให้ตัวเองรู้สึกว่า ตัวเราเป็นเจ้าของเป้าหมายนั้น เพราะเท่ากับเราได้จัดระเบียบตัวเองให้สอดรับกับเป้าหมาย
- ถ้าเราไม่อ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของเป้าหมาย การผัดวันประกันพรุ่งมักจะตามมา
- เมื่อใดที่เราเต็มใจรับผิดชอบผลลัพธ์ไม่ว่าดีหรือร้าย เป้าหมายจึงจะเป็นของเรา
- เมื่อเป้าหมายเป็นของเรา เราจะไม่ต้องใช้สิ่งกระตุ้นจากภายนอกอย่างเดดไลน์
- ใฝ่หาความมีระเบียบ ไม่ว่างานแบบใด หากเราควบคุมสิ่งที่อยู่รอบตัวได้ เรามีโอกาสที่จะจดจ่อได้นานกว่า มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลมากกว่า
- ลองจัดระเบียบเอกสาร ไฟล์ต่าง ๆ ให้เราสามารถกลับมาค้นหามันได้ง่าย และควบคุมมันได้
- สิ่งที่เราควบคุมได้ เราจะมีโอกาสผัดวันประกันพรุ่งได้น้อยลง
- จงทำให้โต๊ะโล่ง และเป็นระเบียบอยู่เสมอ เช่น การจัดโต๊ะทุก ๆ เย็นจะทำให้เราต้องเลือก โดยอัตโนมัติว่าจะทำงานอะไรในวันรุ่งขึ้น
- ยิ่งมีของน้อยในที่ทำงาน เรายิ่งรู้สึกมีอำนาจควบคุมสภาพแวดล้อมมากขึ้นเท่านั้น แล้วเราจะรู้สึกว่ามีอำนาจควบคุมเวลาของตนสูงขึ้น
- การจัดสภาพแวดล้อม สถานที่ และพื้นที่ที่เราทำงานให้ดี จะทำให้เราลื่นไหลไปกับงานมากยิ่งขึ้น
- การอยู่ในโซนนั้นช่วยได้มาก เป็นเรื่องของสถานที่และพื้นที่ที่เราทำงานได้ดีที่สุด ที่ที่เราจะลื่นไหลไปกับงาน
- จงปรับสภาพแวดล้อมให้ปลอดสิ่งรบกวน เราต้องตัดสิ่งรบกวนล่วงหน้า เช่น ปิดมือถือ ปิดเน็ต ใช้ตัวช่วย block การเข้า social media
- เลิกนิยมความสมบูรณ์แบบ การเชื่อว่ามีเวลาที่เหมาะจะเริ่มทำงานต่าง ๆ เป็นเรื่องผิดพลาด เพราะมันไม่มีอยู่จริง
- เมื่อเรายอมรับแล้วว่าไม่มีเวลาที่เหมาะที่จะเริ่ม เท่าตอนนี้แหละ ดีที่สุดไม่แพ้ตอนไหน
- ไม่มี “วันที่ดี” และ “เวลาที่เหมาะเจาะ” เท่าวันนี้
สร้างแต้มต่อให้ตัวเอง
- ข้อมูลมากไม่จำเป็นต้องให้คำตอบที่ดีที่สุดเสมอไป ดังนั้น อย่าให้ข้อมูลที่มากเกินไปปูทางไปสู่การผัดวันประกันพรุ่ง
- ถามตัวเองว่า มันจะง่ายขึ้นหรือมีประโยชน์มากขึ้นไหม ถ้าทำในภายหลัง ถ้าใช่ก็เอาไว้ก่อน แต่ถ้าไม่ใช่ ทำมันตอนนี้เลย
- สิ่งที่ “ควร” ทำ ไม่ทำให้เรากระตือรือร้นได้เท่ากับสิ่งที่เรา “อยาก” จะทำ
- การตัดสินใจหรือเลือกที่จะลงมือทำในงานนั้นเป็นคนละเรื่องกับการอยากที่จะเริ่มทำ
- ถ้ามีงานสำคัญ จงลืมว่าเราอยากจะเริ่มทำมันหรือไม่ แค่ตัดสินใจทำก็พอ
- ไม่ว่าเราจะมีอารมณ์ทำหรือไม่ มันไม่สำคัญเลย เพราะแค่ลงมือแล้ว มันจะช่วยให้เรามีพละกำลังขึ้นมาได้ แล้วอารมณ์ก็จะเปลี่ยนเป็นดีเอง
- อย่ารอให้มีอารมณ์ถึงจะลงมือทำ ลงมือทำแล้ว อารมณ์จะถามมาเอง
- ถ้าเรารู้ตัวว่าตัวเองผัดวันประกันพรุ่ง จงไปหาผู้แนะแนวที่มีความรู้และเชื่อถือในเรื่องนั้น เพราะพวกเขาจะช่วยกระตุ้นให้เราลงมือทำได้
- ลองชิมลางก่อนจะลงมือทำจริง ถ้ามีงานต้องทำ 2 วันข้างหน้า จงลองชิมลางโดยการทำเล็ก ๆ น้อยก่อนดู
- จัดการงานที่ยากก่อน เพราะถ้าเราทำสิ่งที่ชอบก่อน และเอาสิ่งที่ไม่ชอบไปไว้ทีหลัง เราจะมีแนวโน้มที่จะผัดวันประกันพรุ่งมากขึ้น
- เมื่อเราทำงานยาก ๆ ก่อน เราได้ลดทอนความเป็นไปได้ในการผัดวันประกันพรุ่งล่วงหน้าไปแล้ว
ชาร์จพลัง
- จงเลือกอยู่เสมอ ไม่ว่าขณะที่เลือกนั้นจะรู้สึกอย่างไรก็ตาม
- การเลือกทางเลือกด้านบวกอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ความรู้สึกมีอำนาจควบคุม คงอยู่ต่อเนื่องและขยายใหญ่ขึ้น
- จำไว้ว่า เรามีอำนาจควบคุมความคืบหน้าของตัวเอง และโฉมหน้าของวันนั้น จงเลือกความสำเร็จ
- ตัวอย่างของการเลือก
- สนุกกับงาน
- รับรู้ถึงความสำเร็จในแต่ละวัน
- สร้างความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง
- รู้สึกสบายใจแม้อยู่ในความไม่แน่นอน
- รับมือกับงานอย่างกระตือรือร้น
- รักษาประสิทธิผลที่สูงตลอดทั้งวัน
- พึ่งพาตัวเองมากขึ้น
- บางครั้ง อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดของความมีประสิทธิผล คือ การไม่ยอมให้ตัวเองมี “เวลานอก” เลย
- คนเราต้องการจังหวะเวลาไว้นั่งทบทวนตัวเองเงียบ ๆ
- บางครั้งวิธีที่ดีที่สุดในการจะมีประสิทธิผล คือ การนั่งอยู่ที่โต๊ะโดยไม่ทำอะไรเลย
- ให้รางตัวเอง ถ้าเราให้รางวัลตัวเองที่สามารถทำตามขั้นตอนเล็ก ๆ จนผัดวันประกันพรุ่งน้อยลง เรามีแนวโน้มประสบความสำเร็จมากขึ้น
- ทฤษฎีจิตวิทยาทั้งหมดยืนยันว่าพฤติกรรมที่ได้รับการเสริมแรงด้านบวกจะถูกทำซ้ำ
- หาสิ่งที่เราชอบ และใช้มันเป็นรางวัลล่อใจ
- ทำสัญญากับตัวเอง และ เรานี่แหละ คือ ผู้เซ็นสัญญา ที่ต้องปฏิบัติตามสัญญานั้น ๆ
- คนเรามักจะผัดวันประกันพรุ่ง เมื่อไม่มีจุดเริ่มต้นที่ชัดเจน หรือขั้นตอนที่สมเหตุสมผลมากำกับการก้าวเดิน
- วางเส้นทาง เดินไปทีละก้าว ประเมินว่า อยู่ที่ไหนแล้ว ดูว่าตัวเองอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องหรือไม่ วัดความคืบหน้า แล้วก็ทำให้มันเป็นกิจวัตรใหม่
- แผนการจะช่วยย่นระยะเวลา การเดินเส้นทางผิดได้
- จงต่อรองกับตัวเอง โดยใช้วิธี “การต่อรองแบบมีพลวัต” คือ ข้อตกลงที่เราทำกับตัวเองเพื่อใช้ประเมินว่าทำอะไรสำเร็จบ้าง และอยากจะทำอะไรสำเร็จต่อไปอีก โดยปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพการณ์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ถ้ามีสิ่งต้องทำ 5 สิ่ง ลองต่อรองกับตัวเองดู ทำสัก 1 ชิ้นก่อนได้ไหม หรือก็ไม่ 2-3 ชิ้น
- เราเคยนึกถึงราคาทั้งหมดของการผัดวันประกันพรุ่งไหม?
- ราคาทางสมอง ที่เราอาจนอนไม่หลับ กังวล ปวดหัว ความคิดตีกันในหัว
- ราคาทางการเงิน อาจมีได้ตั้งแต่ไม่มีอะไรไปจนถึงหลายพัน หรือหลายแสนบาท
- ราคาทางจิตใจ การมองตัวเองว่าเป็นคนไร้ประสิทธิผล ขี้เกียจ และเชื่องช้า
- พักผ่อนให้เพียงพอ กินของมีประโยชน์ เพราะ ถ้าไม่ให้ตัวเองได้พักผ่อนอย่างที่ร่างกายต้องการ ร่างกายจะหาทางเอาเราคืน
- เมื่อใดที่เรานอนไม่พอ กินไม่พอ แม้แต่งานเล็ก ๆ ก็อาจดูใหญ่ยากกว่าที่เป็นจริงได้ แต่เมื่อเราได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ และได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ เรามีโอกาสที่จะผลิตงานที่ดีที่สุดออกมาได้
- เทคนิคนับถึงสี่ สมมติว่าเราอยากทำอะไรในตอนนี้ แต่รู้ดีว่าในที่สุดก็ต้องเริ่มลงมืออยู่ดี ให้เราอุทิศเวลา 4 นาทีสนใจงานนั้น พอหมด 4 นาที เราจะหยุดก็ได้ แต่เมื่อเครื่องติดแล้ว เราอาจจะหยุดไม่อยู่แล้วก็ได้
จัดการกับงานที่ยากกว่า
- บางครั้งทางเดียวที่จะทำให้เริ่มงานได้ คือ ลงมือทำโดยไม่ต้องหยุดคิด และไม่ปล่อยให้ตัวเองมีโอกาสบ่ายเบี่ยงไปคิดอย่างอื่น
- บางครั้งเราก็แค่ต้องกระโดดลงไป พอลงมือทำ เราก็มักจะรู้ซึ้งกว่าที่คิดว่ามาถูกทางแล้ว
- ลองหาคู่คิด ที่ช่วยให้เราลงมือทำ และไม่ออกนอกลู่นอกทาง
- ให้คนอื่นทำแทนบ้าง ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของตัวเองอย่างเต็มที่ และเสริมจุดอ่อนของตัวเองด้วยการขอความช่วยเหลือ
- ทำทีละอย่าง ให้ลงมือทำงานหนึ่งจนเสร็จ แล้วค่อยทำงานต่อไป จากนั้นก็ทำงานต่อไปให้เสร็จทั้งหมด
- เวลาทำงานอะไรก็ตาม ให้ทำเลยครึ่งทางก่อน ค่อยพัก ถ้าทำงานครึ่งแรกที่หนักหนาก่อนและตระหนักถึงความสำเร็จนี้ เราจะเพิ่มพลังในการทำงานครึ่งหลังเบากว่า และใช้เวลาน้อยกว่า
- ลองเทียบกับงานที่ใหญ่ และเลวร้ายกว่า แล้วงานที่ต้องทำ จะกลายเป็นตัวเลือกที่น่าพอใจ และกระตุ้นให้ลงมือทำได้ง่ายขึ้น
- ลองวางเงินไว้กับตัวกลาง ถ้างานที่เราวางเงินไว้ไม่เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด เราจะโดนยึดเงินก้อนนั้นไป
ทะยานสู่จุดสูงุสด
- การรักษาความเป็นระเบียบ คือ ส่วนหนึ่งของวิธีลดผลกระทบที่เกิดจากการใช้ชีวิตในสังคมที่มีปริมาณข้อมูลมากเกินไป
- หลักการ คือ แบ่งส่วนและพิชิต ให้จัดการกับลิ้นชักแต่ละชั้นแค่ทีละครึ่งชั้น
- อย่าดูเวลา เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองได้รักษาสมาธิ และความสนใจระหว่างที่ทำงานตามจังหวะเวลาของเราเอง การจ้องนาฬิกาไม่ได้ทำให้ถึงเวลาพักเที่ยงเร็วขึ้น
- ประเมินผลกระทบต่อคนอื่น ช่วยให้ลดการผัดวันประกันพรุ่งได้ ให้คิดว่า มีคนรอพึ่งเราอยู่ ไม่ว่าจะรับรู้อยู่แล้วหรือไม่ก็ตาม ยิ่งเห็นภาพหรือเข้าใจชัดเจนว่าพวกเขาคือใคร และทำไมถึงต้องให้เราช่วย แนวโน้มที่เราจะผัดวันประกันพรุ่งก็ยิ่งต่ำลง
- ทำให้มีคนรองานเราอยู่ ถ้ามีคนรองานหรือความคืบหน้าจากเรา ความสามารถในการลงมือทำ และทำงานในมือให้เสร็จของเราก็จะเพิ่มขึ้นมากไปด้วย
- ถ้าต้องรายงานความคืบหน้ากับใครบางคน ก็มีโอกาสสูงขึ้นที่เราจะลงมือทำ และทำงานเสร็จตามกำหนด
- ใช้เดดไลน์ให้เป็นประโยชน์ เปลี่ยนความคิดเรื่องเดดไลน์ มันมีความหมายต่อเราอย่างไร จะได้ประโยชน์จากมันอย่างไรบ้าง และจะใช้มันให้เป็นประโยชน์กับตัวเองได้อย่างไร
- การแปะโน้ตเตือนใจ คือ วิธีเอาชนะการผัดวันประกันพรุ่งที่ใช้เวลาเตรียมการแค่ไม่กี่นาที และเป็นวิธีที่ได้ผลดี เพราะมันจะทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาขั้นสุดท้ายที่กระตุ้นให้ลงมือทำ
- พักให้น้อยลง เวลาที่เรากำลังติดลม ให้เลิกคิดถึงการพักไว้ แล้วลงมือทำไปเรื่อย ๆ
- จัดการกับชีวิตไปทีละวัน จงใช้ชีวิตไปวัน ๆ ไป คือ การทำงานของวันนี้ให้เสร็จในวันนี้ และจัดการกับงานของวันพรุ่งนี้ในวันพรุ่งนี้
- ไม่ต้องสนใจเรื่องอายุ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยยี่สิบหรือหกสิบปี เราก็ลงมือทำสิ่งที่อยากทำให้สำเร็จได้ทุกเมื่อ
- ให้เลิกรู้สึกกังวลใจกับอายุของตัวเอง แต่ให้ตระหนักถึงศักยภาพที่ตัวเองมี และวันเวลาที่เหลืออยู่
อ่านจบแล้ว รู้สึกยังไงบ้าง ช่วยบอกเราหน่อยครับ 🙏
27 responses
OMG
0
Love
17
Like
9
Sad
1
Dizzy
0
Sleepy
0
Leave a Comment