👋 สิ่งที่ได้เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้
“เราคิดอยู่ทุกขณะ” แต่เรากลับไม่เคยสนใจ หรือศึกษามันเลย ทุกสิ่งเริ่มต้นที่การคิด ถ้าเราไม่ฝึกฝนการคิดให้เก่ง เราอาจจะพลาดโอกาสหลาย ๆ อย่างในชีวิต การคิดเป็นทักษะที่จำเป็นที่สุด ในฐานะมนุษย์ที่ใช้ความคิดในการขับเคลื่อนทุกสิ่ง
😎 1 ประโยคที่ชอบที่สุดของหนังสือเล่มนี้
“หากเราใช้เวลาในตอนกลางวันไปกับการรับใช้ผู้อื่น ในตอนกลางคืน เราจะเอนหลังลงนอนโดยไม่มีความเสียใจ และหลับอย่างเป็นสุข”
สรุปหนังสือ คิดให้ใหญ่ คิดให้สำเร็จ (How Successful People Think) เขียนโดย John C. Maxwell
การคิดแบบภาพรวม (Big-Picture Thinking)
- คนที่มองภาพรวมอย่างสม่ำเสมอ มีโอกาสที่จะประสบความสําเร็จในภารกิจทุกด้าน
- การคิดภาพรวมทําให้คนที่กําลังคิดต้องพิจารณาทุกแง่ทุกมุม ต้องใช้ความสุขุม รอบคอบ และต้องมองอย่างมีมิต
- เรียนไม่รู้จบ นักคิดภาพรวมไม่เคยพอใจในสิ่งที่ตัวเองรู้อยู่แล้ว จะไปเยือนสถานที่ใหม่ อ่านหนังสือเล่มใหม่ พบคนหน้าใหม่ เรียนรู้ทักษะใหม่ การปฏิบัติเช่นนี้ทําให้พวกเขาสามารถเชื่อมต่อสิ่งที่ไม่เคยเชื่อมต่อมาก่อนได้
- วิธีที่ดีที่สุดในการสร้างเสริมประสบการณ์คือ การฟังผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่ตัวเราเองยังอ่อนด้อย
- นักคิดภาพรวมตระหนักดีว่ายังมีโลกอื่นอยู่นอกโลกของเขา และจะพยายามก้าวพ้นอาณาจักรของตัวเองไปดูโลกของคนอื่นผ่านสายตาของคนเหล่านั้น
- เราจะใช้ชีวิตของเราอย่างไรก็ได้ตามเราต้องการ แต่เราสามารถใช้มันได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น การเป็นคนติดแบบภาพรวมอยู่เสมอช่วยให้เราใช้ชีวิตที่สมบูรณ์ ไม่ขาดพร่อง
- ประสบการณ์ของคนที่มองภาพรวมจะเพิ่มพูนมากขึ้น เพราะเขาขยายโลกของเขาให้กว้างไกลขึ้น
- นักคิดภาพรวมจะไม่ค่อยเจอเหตุการณ์เหนือความคาดหมาย เนื่องจากพวกเขามีโอกาสเห็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หลากหลายมามากกว่า
- การคิดภาพรวมจะช่วยให้เราเข้าใจภาพเล็ก และจะทำให้เราสามารถอยู่บนเส้นทางสู่เป้าหมาย
- ทักษะที่สําคัญยิ่งอย่างหนึ่งที่เราสามารถพัฒนาในด้านมนุษยสัมพันธ์ คือ ความสามารถในการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ จากมุมมองของอีกฝ่าย
- หัวใจของความสําเร็จของการทำงานเป็นทีมอยู่ที่สมาชิกมองเห็นภาพรวม มิใช่เห็นแต่ภาพในส่วน ของตนเท่านั้น
- นักคิดภาพรวมไม่ยอมให้สิ่งยั่วยวนใจมาจูงจมูก เพราะพวกเขาไม่ได้ละสายตาจากสาระสําคัญโดยรวม
- นักคิดภาพรวมจะอดเปรี้ยวไว้กินหวาน เพราะรู้ว่าคนที่ลืมคิดถึงผลระยะยาวจะตกเป็นทาสของผลระยะสั้น
- วิธีการเดียวที่จะทําในสิ่งที่ยังไม่มีใครเคยทําคือ มองข้ามเป้าหมายระยะสั้น และมองให้เห็นภาพรวม
- อย่าดิ้นรนหาความแน่นอน นักคิดภาพรวมไม่อึดอัดใจกับความคลุมเครือ พวกเขาคิดกว้างและสามารถสับเปลี่ยนความคิดที่ขัดแย้งจํานวนมากไว้ในใจได้
- เรียนรู้จากประสบการณ์ทุกครั้ง นักคิดภาพรวมจะขยายโลกทัศน์ของตัวเองโดยเรียนรู้จากประสบการณ์ทุกครั้ง
- นักคิดภาพรวมเรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเอง แต่ก็เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ไม่เคยประสบด้วย นั่นหมายถึงเรียนรู้ด้วยการรับความรู้ความ เข้าใจจากผู้อื่น
- ถ้าอยากเป็นนักคิดภาพใหญ่ ก็จําเป็นต้องทําในสิ่งที่สวนกระแสคนทั่วไป การมองภาพใหญ่จําเป็นต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองเดินไปในทิศทางที่แตกต่าง ไปบุกเบิก หนทางที่ยังไม่มีใครสํารวจมาก่อน ไปหาดินแดนใหม่เพื่อครอบครอง
การคิดแบบจิตจดจ่อ (Focused Thinking)
- สมาธิสามารถทําให้คนเราทําอะไรอย่างมีพลังได้แทบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพหรือทางจิตใจ
- ไอเดียที่เยี่ยมยอดได้ก็ต่อเมื่อมีเวลาตั้งสมาธิกับมันอย่างพอเพียง
- การมีจิตจดจ่อหรือมีโฟกัสจะช่วยให้เป้าหมายชัดเจนยิ่งขึ้น
- เราไม่มีทางเสริมสร้างทักษะใด ๆ ให้ดีขึ้นได้เลย ถ้าจิตใจล่องลอยไปที่อื่นในระหว่างการฝึกฝน วิธีเดียวที่จะยกระดับตัวเองให้สูงขึ้นคือการมีสมาธิต่อสิ่งที่กําลังทําอยู่
- จงทุ่มเทความใส่ใจ ไปในเรื่องที่ให้ดอกผล
- รักษาวินัยในเรื่องทําตามลําดับความสําคัญ อย่าทําเรื่องง่าย หรือเรื่องยาก หรือเรื่องเร่งด่วนก่อน แต่ขอให้ทํากิจกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด มันจะช่วยขจัดสิ่งรบกวนให้เหลือน้อยที่สุด
- วิธีที่จะได้เวลาสําหรับการคิดอย่างมีสมาธิวิธีหนึ่ง คือ ตั้งกฎเกณฑ์สําหรับตัวเอง เช่น อย่ายอมให้ตัวเองเปิดอีเมล หรืออ่านจนกว่าจะถึง 50 หน้า
- จิตของเราจะไม่จดจ่อจนกว่าจะมีเป้าหมายที่ชัดเจน
- วัตถุประสงค์ของเป้าหมาย คือ การรวมความสนใจของเราและบอกทิศทางแก่เรา ไม่ใช่เป็นตัวกำหนดจุดหมายสุดท้าย
- 4 สิ่งต้องปล่อยว่าง เพื่อช่วยก้าวไปข้างหน้า ไม่มีทางรู้จักคน ไม่มีทางทำทุกอย่างได้ ไม่สามารถได้ทุกหนแห่ง และไม่มีทางรู้ไปได้ทุกเรื่อง
การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking)
- ความสามารถในการสร้างสรรค์เป็นเสมือนทองบริสุทธิ์ ไม่ว่าเราจะทํามาหากินด้วยอาชีพใดก็ตาม
- ความเชื่อผิด ๆ ที่ว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นความคิดแรกเริ่ม หรือเป็นต้นฉบับ แต่ความจริงคือ ความคิดสร้างสรรค์ส่วนใหญ่เป็นการนำความคิดอื่นที่พบเห็นระหว่างทางมาผสมผสานกัน
- ถ้าเราศึกษาศิลปะ เราจะเห็นสายความคิดที่เชื่อมโยงงานของศิลปินทุกคนกับงานของศิลปินรุ่นก่อนหน้าพวกเขา
- เราจะมีไอเดียได้ก็ต่อเมื่อ เราเห็นคุณค่าของไอเดีย
- การสํารวจความเป็นไปได้หลาย ๆ ทางช่วยกระตุ้นจินตนาการ จินตนาการเป็น สิ่งสําคัญยิ่งสําหรับการคิดสร้างสรรค์
- คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ไม่ปฏิเสธความไม่แน่นอน พวกเขาเห็นความไม่เที่ยงแท้ และช่องว่างในชีวิตมาทุกรูปแบบแล้ว
- โดยธรรมชาติแล้ว คนที่มีความคิดสร้างสรรค์มักจะสํารวจนอกเส้นทาง หรือสวนทางกับคนปกติ
- การที่สามารถเชื่อมไอเดียหนึ่งกับอีกไอเดีย โดยเฉพาะไอเดียที่ดูคล้ายจะไม่เกี่ยวข้องกัน จึงเป็นความสามารถที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง
- คิด (Think) –> เก็บสะสม (Collect) –> สร้าง (Create) –> แก้ไข (Correct) –> เชื่อมโยง (Connect)
- การเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ต้องพร้อมที่จะถูกมองว่าโง่ มันหมายถึงการเสี่ยงที่จะเดินบนเส้นด้าย
- พลังสร้างสรรค์สามารถเพิ่มขีดความสามารถให้เราได้
- การคิดสร้างสรรค์ คือ การที่สามารถมองเห็นในสิ่งที่ทุกคนเห็นมาแล้ว แต่คิดในสิ่งที่ไม่เคยมีใครคิด ซึ่งทําให้เราสามารถทําในสิ่งที่ไม่เคยมีใคร ทํามาก่อนได้
- ความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งใช้ ยิ่งเพิ่ม ยิ่งใช้ ยิ่งมี
- ถ้าเราพัฒนาความคิดสร้างสรรค์จนดีพอ เราจะกลายเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดคนอื่นเข้ามาหา
- ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่สอนกันได้ ยิ่งต้องใช้ความคิดจํานวนมากขึ้น หมายถึงโอกาสที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ก็มากขึ้นตาม
- สภาพที่เป็นอยู่แบบเดิม ๆ กับความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม แต่ความคิดสร้างสรรค์กับสิ่งใหม่ ๆ ไปด้วยกันได้ดี
- กำจัดคำพูดที่เป็นบ่อนทำลายความคิดสร้างสรรค์ เช่น อย่าถาม มีทางเดียวเท่านั้น ทำไม่ได้ เราเคยลองมา เราไม่มีเวลา ใช่ แต่…
- คําถามที่ผิดจะยุติกระบวนการคิดสร้างสรรค์ มันจะพาคนคิดไปสู่เส้นทางเก่า
- ถ้าต้องการปลุกเร้าการคิดสร้างสรรค์ ให้ถามตัวเองว่า ทําไมต้องทําด้วยวิธีนี้ ประเด็นเบื้องต้นคืออะไร เรื่องนี้ทําให้เรานึกถึงอะไร สิ่งที่ตรงข้ามคืออะไร ทําไมมันจึงสําคัญ
- สิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีเป็นฆาตกรฆ่าความคิดที่ดี ในทางตรงข้าม สิ่งแวดล้อมที่สร้างสรรค์จะเป็นเสมือนเรือนกระจกที่ช่วยให้เมล็ดพันธุ์ไอเดียงอกเงย เจริญเติบโต และเบ่งบาน
- เป็นความจริงที่เราจะเริ่มคิดเหมือนกับคนที่เราใช้เวลาขลุกอยู่กับเขาเป็นเวลานาน ยิ่งเราใช้เวลาอยู่กับนักคิดสร้างสรรค์มากขึ้นเท่าใด โอกาสที่เราจะมีความคิดสร้างสรรค์ก็มากขึ้นตามไปด้วย
- ออกไปท่องเที่ยวในสถานที่ใหม่ ๆ ไปดูทิวทัศน์วัฒนธรรม ประเพณีอื่น ๆ ที่แปลกหูแปลกตา ดูว่าคนที่นั่นอยู่และคิดแตกต่างไปจากเราอย่างไร หรือ อ่านหนังสือที่ต่างแนวออกไปจากเดิม
การคิดตามความเป็นจริง (Realistic Thinking)
- คนเรามักจะขยายความสําเร็จของตัวเอง และลดขนาดความล้มเหลวหรือข้อบกพร่องของตัวเองให้เหลือน้อยที่สุด
- ความจริงจะทําให้เราเป็นอิสระ แต่ก่อนหน้านั้นมันจะทําให้เราโกรธก่อน
- ถ้าเราอยากเป็นนักคิดตามความเป็นจริง เราจําเป็นต้องเผชิญและอยู่กับความจริงอย่างสบายใจ
- กระบวนการคิดตามความเป็นจริงเริ่มต้นที่การทําการบ้าน เราต้องหาความจริงมาให้ได้เป็นอันดับแรก
- วิธีที่จะทําให้ใครสักคนยอมรับถึงความจําเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงคือ ให้เขาจ้องมองสภาพความเป็นจริงแบบไม่กะพริบตา
- ไม่มีอะไรดีไปกว่าการใช้เวลาตรวจสอบข้อดีและข้อเสียของปัญหาอย่างจริงจังเพื่อให้ได้ความจริงมากที่สุด
- หัวใจของการคิดตามความเป็นจริงคือ การค้นหา สร้างมโนภาพ และ ตรวจสอบเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุด
- เมื่อใดก็ตามที่เราคิดว่าเรื่องเลวร้ายอาจจะเกิดขึ้นและได้ทําแผนสํารองไว้รับมือแล้ว เราจะมีความมั่นใจและมั่นคงมากขึ้น และจะไม่ประหลาดใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น
- ลองถามตัวเองว่า “ถ้าเป้าหมายไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ละ? ถ้ายอดขายไม่ตรงตามที่ตั้งไว้ละ? ถ้าเกิดพรุ่งนี้เงินเราไม่เหลือสักบาทละ?”
- จุดประสงค์ไม่ใช่จะทําให้เรามองโลกในแง่ลบหรือหวังให้เหตุร้ายเกิดขึ้น แต่ให้พร้อมที่จะรับมือในกรณีที่มันเกิดขึ้นจริง ๆ
- พิจารณาข้อดีข้อเสีย แล้วตรวจสอบภาพเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุด จะทําให้รู้ช่องว่างระหว่างความปรารถนาของเรากับสิ่งที่เป็นจริง เมื่รู้ว่างช่องว่างนั้นเป็นอย่างไรแล้ว เราจะสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ไปเติมมันได้
- ถ้าเราไม่เข้าใกล้ปัญหามากพอ ไม่มองความฝันตามความเป็นจริง เราจะไม่มีทางไปถึงฝันได้
- การคิดตามความเป็นจริงจะจัดสรรบางสิ่งที่แข็งแรงให้เราได้พักพิงยามทุกข์ยาก ท่ามกลางความไม่แน่นอนจะนํามาซึ่งความมั่นคง
การคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking)
- คนส่วนใหญ่ใช้เวลาวางแผนพักร้อนมากกว่าวางแผนชีวิตของตัวเอง
- การคิดเชิงกลยุทธ์ไม่ได้จํากัดอยู่แค่ปฏิบัติการทางทหารหรือธุรกิจเท่านั้น เราสามารถนําการคิดเชิงกลยุทธ์มาใช้ให้เกิดสิ่งดี ๆ ในชีวิตของเราได้
- การคิดเชิงกลยุทธ์ช่วยในการวางแผน เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความแข็งแกร่ง และหาเส้นทางที่ตรงและสั้นที่สุดในการปฏิบัติภารกิจให้ไปถึงเป้าหมาย ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม
- ทุกอย่างจะง่ายขึ้นถ้ามีแผนการ
- ตั้งคำถาม “ทิศทาง เราควรทําอะไรต่อไป เพราะเหตุใด? การติดตามผล เรามาถูกทางหรือเปล่า? เราจะเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล (เพื่อความสมบูรณ์แบบ) ได้อย่างไร?”
- นักคิดเชิงกลยุทธ์ที่เก่งล้วนแต่แม่นยํา และละเอียดในการใช้ความคิด พวกเขาพยายามปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องปัญหา
- การคิดเชิงกลยุทธ์เป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างสิ่งที่เราเป็นอยู่กับสิ่งที่เราอยากจะเป็น มันให้ทิศทางกับความน่าเชื่อถือในวันนี้ และเพิ่มศักยภาพสําหรับความสําเร็จในวันพรุ่ง
- การคิดเชิงกลยุทธ์ช่วยลดขอบเขตของความผิดพลาดได้เยอะ เพราะมันจะปรับการกระทําของเราให้ไปในแนวทางเดียวกับเป้าหมาย
- ขั้นแรกในการคิดเชิงกลยุทธ์คือ แบ่งงานหรือปัญหาออกเป็นส่วนย่อย ๆ ที่เล็กพอจะจัดการได้เพื่อที่สามารถโฟกัสปัญหาได้ดีขึ้น
- ถามหาเหตุผลก่อน ถามหาวิธีการ แทนที่จะถามว่าจะทําอย่างไร ควรถามว่า เพราะอะไร
- การถามว่า ทำไม หรือ “เพราะอะไร” จะทําให้เราคิดหาเหตุผลทุกด้านสําหรับการตัดสินใจ มันทําให้เราเปิดใจหาช่องทางและความเป็นไปได้
- คนจํานวนมากเร่งรีบหาวิธีแก้ไข ผลลัพธ์คือการแก้ไขผิดปัญหา เริ่มต้นด้วยการค้นหาสถานการณ์และเป้าหมายที่แท้จริงก่อน เมื่อใดที่พิสูจน์ทราบประเด็นที่แท้จริงได้แล้ว การแก้ไขก็จะเป็นเรื่องง่าย
- ประเมินดูว่าเรามีทรัพยากรอะไรที่อยู่ในมือ กลยุทธ์ที่ไม่คํานึงถึงทรัพยากรมีโอกาสจะล้มเหลวสูงมาก
- คนที่เหมาะสม + ตําแหน่งที่เหมาะสม + แผนการที่เหมาะสม = ความสำเร็จ
การคิดในเชิงทุกอย่างเป็นไปได้ (Possibility Thinking)
- คนที่คิดว่าทุกอย่างเป็นไปได้นั้น เชื่อว่าตัวเองจะประสบความสําเร็จ ถ้าเชื่อว่าเราสามารถทําอะไรบางอย่างได้ เราก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว
- ถ้าเราเปิดใจยอมรับการคิดในเชิงเป็นไปได้ ก็เท่ากับว่าเราได้เปิดรับความเป็นไปได้มากมายเข้ามาสู่ชีวิต
- ทุกครั้งที่เรากําจัดป้าย “เป็นไปไม่ได้” ออกไป ก็เท่ากับเรายกระดับความสามารถของตัวเองให้เหนือชั้นกว่าคนทั่วไป
- ยิ่งคิดใหญ่ ยิ่งมีแรงกำลัง การคิดในเชิงทุกอย่างเป็นไปได้กับพละกําลังมีความสัมพันธ์กันโดยตรง
- คนที่กล้าลงทุนก็เพราะพวกเขามองเห็นความหวังหรือมีความเชื่อว่าจะประสบความสําเร็จ หากเรายอมรับการคิดในเชิงทุกอย่างเป็นไปได้ ก็หมายถึงเราเชื่อในสิ่งที่เรากําลังทําอยู่ และนั่นเป็นการเพิ่มพละกําลังให้แก่ตัวเอง
- ขั้นแรกของการจะเป็นนักคิดที่เชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้คือ เลิกมองหาว่ามีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้นกับสถานการณ์ต่าง ๆ
- คนที่คิดในแง่บวกจะหลีกเลี่ยงการลงความเห็นว่า “ทุกสิ่งเป็นไปไม่ได้”
- การคิดในเชิงทุกอย่างเป็นไปได้ ไม่ใช่เป็นแค่การไม่ยอมมองโลกในแง่ลบ แต่เป็นการมองหาความเป็นไปได้ในทางบวก ถึงแม้สภาพแวดล้อมจะเป็นในลักษณะตรงกันข้ามก็ตาม
- วิธีบ่มเพาะทัศนคติมองโลกในแง่ทุกอย่างเป็นไปได้คือ ฝันให้ใหญ่กว่าขึ้น (คนส่วนใหญ่ฝันเล็กเกินไป ไม่คิดให้มันใหญ่พอ)
- ถ้าเราต้องการความเป็นไปได้ที่ใหญ่ขึ้น เราต้องไม่พอใจกับสิ่งที่มีอยู่และเป็นอยู่ในขณะนี้
- เราจะเผชิญกับคนจํานวนมากที่ต้องการให้เลิกฝันและพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่
- คนที่ประสบความสําเร็จปฏิเสธที่จะยอมรับสภาพเดิมที่เป็นอยู่
การคิดทบทวน (Reflective Thinking)
- การไตร่ตรองช่วยทำให้เราได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากความสําเร็จหรือความผิดพลาด จะได้รู้ว่าอะไรควรทําซ้ำ และอะไรควรเปลี่ยนแปลง
- การที่เราได้ทบทวนสถานการณ์ในอดีต ทําให้เราคิดโดยมีความเข้าใจมากขึ้น
- การคิดทบทวน ต้องการความเงียบและอยู่ตามลําพัง การทบทวนกับการรบกวนเป็นสิ่งที่ไปกันไม่ได้
- เวลาที่เราทบทวนเรื่องราว เราสามารถนําสิ่งที่พบเห็นมาเป็นมุมมองของตัวเอง และช่วยตระหนักในคุณค่าของสิ่งใหม่ ๆ ที่ได้พบเจอ
- การคิดทบทวนจะช่วยให้เราห่างไกลจากอารมณ์รุนแรงที่เกิดจากประสบการณ์ดีหรือเลว และมองมันด้วยสายตาที่สดใหม่
- เมื่อได้คิดทบทวน แม้ว่าเราจะเผชิญเหตุการณ์เดิมอีกครั้ง เราจะก็มั่นใจ และรับมือกับมันได้ดีขึ้น และยังช่วยประหยัดเวลาในการคิดด้วย
- การคิดทบทวนจะเปลี่ยนประสบการณ์ให้เป็นการเข้าใจอย่างถ่องแท้
- ความคิดที่มีค่ามากที่สุดที่เคยคิดได้ อาจจะสูญหายไป ถ้าเราไม่ให้เวลาสำหรับการคิดทบทวนกับมัน
- ยิ่งตั้งคําถามดีขึ้น ทองที่คุณขุดได้จากการคิดทบทวนก็จะมากขึ้น เช่น “วันนี้เราได้เรียนรู้อะไรบ้างที่ช่วยให้เราก้าวหน้าได้? มีอะไรที่ต้องเรียนรู้บ้างไหม? มีอะไรที่ต้องทําให้เสร็จหรือเปล่า? วันนี้เราได้บอกรักกับครอบครัวของเราหรือเปล่า?”
การคิดแบบคนทั่วไป (Popular Thinking)
- ความคิดเก่า ๆ คือ ความคิดที่คนทั่วไปยอมรับเป็นความคิดที่สืบทอดต่อๆ กันมาหรืออยู่ในกรอบ
- ถ้าอยากทําการสิ่งใดให้สัมฤทธิผลระดับไม่ธรรมดา เราต้องเลิกคิดแบบคนทั่วไป
- การจะทําอะไรที่สวนทางกับความคิดแบบคนทั่วไปไม่ใช่เรื่องง่าย
- ตัวอย่างวิธีคิดแบบคนทั่วไป “เฉื่อยชา ไม่ยืดหยุ่นพอ ง่ายเกิน ยึดมั่นในจารีต ไม่มีวินัย อยู่ในกรอบมากเกิน ไหลตามกระแส ตื้นเขิน และหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง”
- ถ้าอยากเป็นนักคิดที่เก่ง ต้องเริ่มทําตัวให้คุ้นกับการที่จะไม่เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป
- คนที่คิดแบบคนทั่วไป มักจะพอใจกับสภาพเดิม ๆ เชื่อมั่นและไว้ใจในสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนั้น และจะยึดมั่นไปตลอดถ้ายังสบายอยู่ ผลที่ตามมา คือมีทัศนคติต่อต้านการเปลี่ยนแปลงและปฏิเสธสิ่งใหม่ ๆ หรือวิธีการใหม่ ๆ
- ผลลัพธ์ขั้นสุดท้ายการคิดแบบคนทั่วไป จะให้ผลลัพธ์ระดับปานกลาง (ธรรมดา พื้น ๆ ไม่เด่น ไม่น่าสนใจ)
- วิธียอมรับการเปลี่ยนแปลงและสิ่งใหม่ ๆ คือ ฝึกชื่นชมความคิดของคนอื่น
- ควรใช้เวลาอยู่กับผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภูมิหลัง ระดับการศึกษา ประสบการณ์ทางอาชีพการงาน ความสนใจส่วนตัว
- เราจะคิดคล้ายกับคนที่เราใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุด ถ้าเราใช้เวลาอยู่กับคนที่คิดนอกกรอบ เราก็มีแนวโน้มที่จะท้าทายการคิดแบบคนทั่วไปและบุกเบิกหาหนทางใหม่ ๆ
- จงยึดหลักความถูกต้องเหมาะสมมากกว่าการเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป
- เราต้องท้าทายความคิดตัวเอง ถ้าเรายึดติดกับความคิดของตัวเองมากเกินไป ก็คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
- ถ้าเราทําสิ่งต่าง ๆ แบบเดียวกับที่คนอื่นทุกคนทําอยู่ เราก็จะได้ผลลัพธ์เช่นเดียวกัน จงก้าวออกไปทําอะไรที่แตกต่างจากเดิมบ้าง
- ถ้าเราอยากจะปฏิเสธความคิดแบบคนทั่วไป เพื่อความสําเร็จ เราจะต้องทําตัวให้คุ้นเคยกับความไม่สะดวกสบายเสียก่อน
การคิดแบบร่วมด้วยช่วยกันคิด (Shared Thinking)
- ยอดนักคิด เข้าใจถึงพลังของการช่วยกันคิดเป็นอย่างดี พวกเขาให้เกียรติต่อความคิดของผู้อื่น
- การช่วยกันคิดให้ผลเร็วกว่า พัฒนาเร็วกว่า ได้ประสิทธิภาพสูงกว่า ได้ความแปลกใหม่กว่า และได้ผลตอบแทนสูงกว่าการคิดคนเดียวเพียงลำพัง
- ถ้านําความคิดของเราไปผสมผสานกับความคิดของคนอื่น เราจะได้ความคิดที่เราไม่เคยมีมาก่อน
- ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้เร็วกว่าถ้ามีผู้มากประสบการณ์มาถ่ายทอดวิชาให้
- นักคิด นักสร้างสรรค์ชั้นนํา ไม่ทํางานคนเดียว ความจริงคือ การคิดริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ ที่ยิ่งใหญ่ในโลกนี้มิได้เกิดขึ้นจาก 0 นวัตกรรมเป็นผลมาจากการร่วมด้วยช่วยกันคิดทั้งนั้น
- คุณมีประสบการณ์ที่ผมไม่มี ส่วนผมมีประสบการณ์ที่คุณไม่มี ถ้าเรานําประสบการณ์มารวมกัน เราก็จะได้ประสบการณ์เพิ่มขึ้น
- สองหัวดีกว่าหัวเดียว การลากพร้อมกันสองแรงจะมีพลังมากกว่าพลังลากของแต่ละตัวรวมกัน
- เราใช้ประโยชน์จากความคิดของทุกคน (1 ความคิด + 1 ความคิด + 1 ความคิด + 1 ความคิด = ความคิดที่สุดยอด ยอดเยี่ยม)
- เราต้องเชื่อว่าไอเดียของคนอื่นมีคุณค่า เปิดใจรับแนวความคิดของการร่วมแบ่งปันความคิด
- คนที่เห็นคุณค่าของการร่วมมือ ย่อมปรารถนาจะเติมเต็มไอเดียของคนอื่น มิใช่ไปแข่งขันเพื่อเอาชนะ
- คิด พินิจ รับฟัง แลกเปลี่ยน แบ่งกัน
- ไม่มีสิ่งใดจะมีคุณค่าเพิ่มเทียบเท่าการที่มีนักคิดจํานวนมากมาเทใจร่วมกันคิด
การคิดแบบไม่เห็นแก่ตัว (Unselfish Thinking)
- การคิดแบบไม่เห็นแก่ตัว ให้ผลตอบแทนยิ่งใหญ่กว่าการคิดชนิดอื่นทั้งสิ้น
- ในชีวิตของคนเรามีไม่กี่อย่างที่จะให้รางวัลตอบแทนตัวเองได้มากไปกว่าการช่วยเหลือผู้อื่น
- เมื่อใดที่เราละทิ้งตัวตนและอุทิศตนให้ผู้อื่นเมื่อนั้นเราก็เริ่มต้นใช้ชีวิตที่แท้จริง
- การให้อย่างไม่เห็นแก่ตัว เป็นสิ่งที่ทำยากที่สุด แต่ถ้าเราทำได้ การพัฒนาคุณสมบัติอื่น ๆ จะกลายเป็นเรื่องง่าย
- ถ้าเราปรารถนาจะปรับปรุงโลกของเรา ก็จงเอาใจใส่และให้ความช่วยเหลือผู้อื่น
- อย่าดิ้นรนเพื่อเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ แต่จงเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง
- คนอื่นต้องมาก่อน เลิกคิดถึงความต้องการของตัวเองก่อน แล้วเปลี่ยนจุดสนใจไปที่ความต้องการของคนอื่น ไม่ควรคํานึงแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง แต่ให้คิดถึงผลประโยชน์ของคนอื่นด้วย
- ให้โดยไม่หวังผลตอบแทนหรือไม่ประสงค์จะออกนาม ให้โดยไม่รับสิ่งใดกลับคืน แต่สิ่งที่ได้ตอบแทน เป็นผลตอบแทนทางจิตวิญญาณ จิตใจ และอารมณ์ความรู้สึก
- การคิดอย่างไม่เห็นแก่ตัวขั้นสุดยอด จะเกิดขึ้นเมื่อเราให้เวลาและความเอาใจใส่แก่อีกฝ่ายเพื่อพัฒนาตัวเขาหรือให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
- วิสัยของมนุษย์มักจะมองเห็นตัวเองก่อนคนอื่น ดังนั้น การต่อต้านกับความต้องการให้ตัวเองได้ก่อนใครอื่น ซึ่งเป็นธรรมชาติของคนเรานั้นจึงเป็นงานที่ยากที่สุด
การคิดเกี่ยวกับบรรทัดสุดท้าย (Bottom-Line Thinking)
- คําว่าบรรทัดสุดท้าย (Bottom Line) ในแวดวงธุรกิจหมายถึง บรรทัดสุดท้าย ล่างสุดในงบการเงินที่แสดงยอดกําไรหรือขาดทุน ซึ่งเป็นเป้าหมายสําคัญที่สุด เป็นตัวชี้ขาดว่าธุรกิจนั้นประสบความสําเร็จหรือไม่
- เราจะทําทะลุเป้าหมายได้ก็ต่อเมื่อรู้ว่าเป้าหมายคืออะไร และเป้าหมายนั้น คือ บรรทัดสุดท้ายของเรา
- เมื่อเรารู้ว่าบรรทัดสุดท้าย คืออะไร และกําลังตามล่าเพื่อให้ได้มา ก็เท่ากับเรากําลังเพิ่มโอกาสเป็นผู้ชนะให้แก่ตัวเองมากขึ้น
- การคิดเกี่ยวกับบรรทัดสุดท้าย ทําให้เราวัดผลลัพธ์ได้เร็วขึ้นและง่ายขึ้น มันให้เรามีบรรทัดฐานหรือเกณฑ์ในการวัดกิจกรรม และทําให้มั่นใจว่ากิจกรรมเล็ก ๆ ของเราต่างมีจุดหมาย ซึ่งเมื่อรวมกันก็จะกลายเป็นเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น
- การรู้บรรทัดสุดท้ายของตัวเอง ทําให้รู้ว่าสิ่งที่เรากําลังทําในตอนนี้เป็นอย่างไร
- กระบวนการคิดเกี่ยวกับบรรทัดสุดท้ายเริ่มต้นด้วยการรู้ว่าสิ่งที่เรากําลังตามหาจริง ๆ นั้นคืออะไร
- การจะตัดสินใจจะกระทําอะไร ถ้าเรารู้บรรทัดสุดท้ายของเราคืออะไร เราจะตัดสินใจในชีวิตได้ง่ายขึ้นเยอะ
- ถ้าเราอยากประสบความสําเร็จในวันพรุ่งนี้ ก็ต้องคิดเกี่ยวกับบรรทัดสุดท้ายตั้งแต่วันนี้
- แผนใดก็ตามที่ออกมาจากการคิดแบบนี้จะต้องผูกติดกับบรรทัดสุดท้ายโดยตรง และบรรทัดสุดท้ายจะต้องมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ไม่ใช่สองหรือสาม
- การคิดเกี่ยวกับบรรทัดสุดท้ายไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจบ การทํางานให้บรรลุผลสําเร็จด้วยการคิดเกี่ยวกับบรรทัดสุดท้าย จะต้องเป็นวิถีชีวิตอย่างหนึ่ง
- การคิดเกี่ยวกับบรรทัดสุดท้ายมีผลตอบแทนสูง เพราะมันช่วยเปลี่ยนไอเดียของเราให้เป็นผลลัพธ์ มันช่วยให้เราคิดได้เต็ม ศักยภาพและบรรลุผลตามที่ปรารถนาไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม
อ่านจบแล้ว รู้สึกยังไงบ้าง ช่วยบอกเราหน่อยครับ 🙏
37 responses
OMG
14
Love
13
Like
10
Sad
0
Dizzy
0
Sleepy
0
Leave a Comment