สรุปหนังสือ ขโมยให้ได้อย่างศิลปิน Steal Like An Artist - Austin Kleon

📚 สรุปหนังสือ ขโมยให้ได้อย่างศิลปิน (Steal Like an Artist)

👋 สิ่งที่ได้เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้

“ศิลปิน หรือนักคิดสร้างสรรค์” ทุกคนล้วนเริ่มต้นจาก 0 เหมือน ๆ เรา ไม่มีใครเกิดมาแล้วมีไอเดียสุดวิเศษเหนือคนอื่น ทุกคนต่างต้องบ่มเพาะ สะสมไอเดีย ความรู้ ความคิดจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว แล้วนำมาต่อยอดกลายเป็นฉบับของตัวเองในที่สุด ซึ่งทักษะที่สำคัญที่สุดคือ การสังเกต แล้วขโมยอย่างสร้างสรรค์ จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว

ตอนนี้เรามีช่อง YouTube แล้ว! Podcast สำหรับคนรักหนังสือและการพัฒนาตัวเอง ใครสนใจ อย่าลืมไปติดตามกันได้นะครับ : ) 🙏
blank
ตอนนี้เรามีช่อง YouTube แล้ว! Podcast สำหรับคนรักหนังสือและการพัฒนาตัวเอง ถ้าเพื่อน ๆ กดติดตาม ผมจะรู้สึกดีมากครับ
blank

😎 1 ประโยคที่ชอบที่สุดของหนังสือเล่มนี้

“เริ่มต้นด้วยการลอกเลียนแบบ แล้วเราจะพบตัวตน และสร้างผลงานในแบบของเราเอง”

สรุปหนังสือ ขโมยให้ได้อย่างศิลปิน Steal Like an Artist เขียนโดย Austin Kleon

  • กวีสมัครเล่นเลียนแบบ ส่วนกวีมืออาชีพขโมย
  • ศิลปินทุกคนมักถูกถามว่า “คุณไปได้ไอเดียนี้มาจากไหน” ศิลปินที่ซื่อสัตย์จะตอบว่า “ก็ขโมยมาน่ะสิ”
  • มันคุ้มค่าพอที่จะขโมยหรือเปล่า? ถ้าคุ้ม เดินหน้าต่อ
  • วิธีมองโลกแบบศิลปิน คือ เลิกกังวลว่าอะไร “ดี” และอะไร “ไม่ดี” แต่เปลี่ยนเป็นอะไร “คุ้มค่า น่าขโมย” และอะไร “ไม่คุ้มค่าที่จะขโมย” เท่านั้นเอง
  • ศิลปินที่ดีล้วนเข้าใจว่าทุกสิ่งมีที่มาเสมอ งานที่เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ทุกชิ้นล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งที่เคยมีมาก่อนแล้ว ไม่มีอะไรแปลกใหม่อย่างแท้จริง
  • เมื่อมีคนบอกว่าสิ่งนี้มันน่าแปลกจัง แสดงว่าพวกเขาแค่ยังไม่รู้ที่มาของมันเท่านั้นเอง
  • เลิกพยายามสร้างสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เหมือนใคร หยุดดิ้นรนสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาจากศูนย์ เราสามารถเปิดรับแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัวได้เต็มที่
  • ไอเดียใหม่ทุกอย่างล้วนเกิดจากการนำไอเดียเก่าอย่างน้อยหนึ่งอย่างมาผสมผสานขึ้นใหม่
  • เราต่างเป็นพันธุกรรมทางความคิดที่สืบทอดมาจากหลาย ๆ แหล่ง เช่น เพื่อน เพลงที่ฟัง หนังสืออ่าน และหนังที่ดู
  • เรา คือ ส่วนผสมของสิ่งต่าง ๆ ที่เราปล่อยให้ผ่านเข้ามาในชีวิต เรา คือ บทสรุปของสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนอื่น
  • ศิลปิน คือ นักสะสม ศิลปินจะสะสมสิ่งที่เลือกสรรมาอย่างดี และคัดเฉพาะสิ่งที่พวกเขารักจริง ๆ เท่านั้น
  • เราจะเป็นคนเก่งแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสิ่งต่าง ๆ ที่แวดล้อมตัวเรา
  • หน้าที่ของเราก็คือ การสะสมไอเดียดี ๆ ยิ่งเรามีไอเดียดี ๆ มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีทางเลือกในการหยิบจับมันขึ้นมาใช้มากเท่านั้น
  • ศึกษาที่มาของความคิด วิเคราะห์นักคิดที่เราชื่นชมดูทีละคน ศึกษาทุกอย่างเท่าที่ทำได้เกี่ยวกับเขา จากนั้นลองมองหาคนอีกสามคนที่นักคิดคนนั้นชื่นชม แล้วศึกษาสามคนนั้นด้วย
  • จงสอนตัวเอง เรามีหน้าที่ต้องให้การศึกษากับตัวเองอยู่เสมอ
  • กระหายใคร่รู้เกี่ยวกับโลกรอบตัวอยู่ตลอดเวลา ค้นหาคำตอบ ไล่ตามที่มาที่ไปของทุกอย่าง เจาะลึกในทุกเรื่องให้มากกว่าใคร ๆ วิธีนี้ จะทำให้เรานำหน้าคนอื่นได้
  • อ่านให้มากเข้าไว้ ลองไปนั่งในห้องสมุดดูบ้าง สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่หนังสือเล่มแรกที่อ่าน แต่เป็นหนังสือเล่มต่อ ๆ มาที่มันนำพาเราไปต่างหาก
  • พกสมุดจดกับปากกาติดตัวอยู่เสมอ ฝึกจดความคิดและสิ่งที่สังเกตเห็นลงในสมุดให้เป็นนิสัย 
  • จงทำแฟ้มหัวขโมยขึ้นมา มันคือ แฟ้มสำหรับเก็บสิ่งต่าง ๆ ที่เราขโมยมาจากคนอื่น
  • เราจะค้นพบตัวตนของเราก็ต่อเมื่อเราเริ่มลงมือทำ และตอนที่สร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมา
  • ใคร ๆ ก็กลัวการเริ่มต้น เป็นเรื่องธรรมชาติ และมาพร้อมกับอาการสงสัยในตัวเอง
  • ถ้าลองถามคนทำงานสร้างสรรค์ พวกเขาจะตอบว่า พวกเขาไม่รู้ว่าผลงานดี ๆ มาจากไหน พวกเขาก็แค่ลงมือทำงาน และตั้งหน้าตั้งตาทำไปทุกวัน ก็เท่านั้นเอง
  • ลองแสร้งเป็นอะไรบางอย่างที่เราอยากเป็น สมมุติว่าทำได้ไปก่อน จนกว่าจะทำได้จริง ๆ
  • เริ่มต้นเลียนแบบ ไม่มีใครเกิดมามีมุมมองหรือสไตล์เฉพาะตัวในทันที เราเติบโตได้ด้วยการเลียนแบบ
  • ในช่วงเริ่มต้นเราจะเรียนรู้ด้วยการเลียนแบบฮีโรในดวงใจของเรา
  • การขโมยผลงาน คือ การเอางานของคนอื่นมาแอบอ้างว่าเป็นของตัวเอง แต่การเลียนแบบ คือ การรื้อโครงสร้างเดิมออก แล้วประกอบขึ้นเป็นรูปแบบใหม่
  • ก่อนอื่น เราต้องรู้ว่าเราอยากเลียนแบบใคร จากนั้น คิดให้ออกว่าควรจะเลียนแบบอะไร
  • การขโมยที่ดี
    • เจาะลึก
    • ขโมยจากหลายคน
    • ให้เครดิต
    • ปรับเปลี่ยน
    • ผสมผสาน
  • การขโมยที่แย่
    • ฉาบฉวย
    • ขโมยจากคนเดียว
    • อ้างว่าเป็นของตัวเอง
    • เลียนแบบ
    • ลอกทั้งดุ้น
  • นิยายทุกเรื่องล้วนแต่งขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจากนิยายที่เคยมีอยู่แล้วทั้งนั้น
  • ให้เริ่มจากสิ่งที่ชอบ ไม่ใช่สิ่งที่รู้
  • เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกสับสนว่าจะก้าวไปในทิศทางไหน ลองถามตัวเองว่า “อะไรล่ะที่จะทำให้เรื่องของเราน่าสนใจขึ้น”
  • เริ่มตั้งแต่วันนี้ เริ่มเขียนหนังสือที่มีเราเป็นตัวละครหลัก วาดภาพที่เราอยากเห็น เริ่มธุรกิจที่เราอยากบริหาร เล่นดนตรีที่เราอยากฟัง สร้างสินค้าที่เราอยากใช้ ลงมือทำสิ่งที่เราอยากให้เกิด
  • ถอยห่างจากหน้าจอ การนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวันอาจฆ่าเราและฆ่างานของเราด้วย
  • ให้เริ่มต้นที่มือ เริ่มด้วยการเคลื่อนไหว เช่น เริ่มดีดกีตาร์ เริ่มสลับสับเรียงโพสต์อิทที่เขียนไว้บนโต๊ะประชุม หรือเริ่มปั้นดินน้ำมัน เพราะมันจะกระตุ้นให้สมองของเราเริ่มทำงาน และเกิดความคิด
  • ฝึกผัดวันประกันพรุ่งอย่างมีประสิทธิภาพ บางครั้ง งานคั่นเวลาที่ทำเล่น ๆ อาจจะกลายมาเป็นผลงานที่โดดเด่นของเราได้
  • ลองหัดอู้งาน นั่งเหม่อ ทำอะไรที่น่าเบื่อ หรือเดินเร่ไปโน่นไปนี่บ้าง เราไม่มีทางรู้ว่ามันจะพาไปพบกับอะไรได้บ้าง
  • อย่าละทิ้งตัวตน อย่ามัวแต่กังวลเกี่ยวกับภาพรวมของสิ่งที่ทำ เพราะสิ่งที่เชื่อมโยงผลงานทั้งหลายของเราเข้าด้วยกันก็คือตัวเรา วันหนึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปทุกอย่างจะดูสมเหตุสมผลในตัวมันเอง
  • ในช่วงเริ่มต้นการเป็นคนไร้ชื่อเสียง คือ ข้อได้เปรียบ เราจะไร้ความกดดัน จะทำอะไรก็ได้ ทดลองไปเรื่อย ไม่ต้องกังวลเรื่องอื่นนอกจากการพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น ไม่ต้องกังวลภาพลักษณ์ ไม่มีค่าจ้างมาค้ำคอ ไม่มีแฟน ๆ ที่คอยเฝ้ารอชมผลงาน
  • สูตรความสำเร็จ (ที่ไม่ลับ) คือ
    1. สร้างผลงานที่ดี (สร้างสรรค์ผลงานทุกวัน เผื่อใจไว้ว่าผลงานของเราจะไม่มีเรื่องในช่วงต้น เราจะล้มเหลวก่อน แล้วจึงค่อย ๆ เก่งขึ้น)
    2. แล้วนำไปแบ่งปันให้คนอื่น ๆ ได้ดู (เอางานไปลงในอินเทอร์เน็ต)
  • ยิ่งแบ่งปันความชอบหรือความกระหายใคร่รู้ของตัวเองมากเท่าไหร่ คนอื่น ๆ ก็จะยิ่งรู้สึกใกล้ชิดกับผลงานของเรามากขึ้นเท่านั้น
  • สร้างโลกของตัวเราเอง หาเวลาอยู่อย่างโดดเดี่ยวและถูกกักขังบ้างเป็นครั้งเป็นคราว
  • ออกจากบ้านบ้าง สมองของเราจะชินกับความสบาย เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ที่เคยชินอยู่ทุกวัน
  • ลองไปอยู่ท่ามกลางผู้คนที่ทำอะไรไม่เหมือนเรา การเดินทางทำให้โลกใบเดิมดูใหม่ขึ้น และเมื่อดูแปลกใหม่ขึ้น สมองของเราก็จะต้องทำงานหนักขึ้นตามไปด้วย
  • อยู่ใกล้คนเก่งเข้าไว้ เราจะเป็นคนเก่งแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับคนที่เราคบหา
  • ฝึกติดตามความเคลื่อนไหวของคนที่มีความสามารถมากกว่าเรา และมีผลงานที่น่าสนใจ จงตั้งใจฟังสิ่งที่พวกเขาพูด สนใจสิ่งที่พวกเขากำลังทำ
  • การยอมรับไม่ใช่เรื่องสำคัญ อย่ามัวแต่นั่งรอให้คนอื่นยอมรับ บางครั้งกว่าคนอื่นจะเห็นคุณค่าในงานของเรา ก็ตอนที่ตายจากโลกนี้ไปแล้ว
  • ทำใจไว้ก่อนว่าเราอาจถูกใคร ๆ เข้าใจผิด ดูแคลน หรือเพิกเฉยได้เสมอ เคล็ดลับ คือ จงวุ่นอยู่กับการทำงานของเราจนไม่มีเวลาใส่ใจคนอื่น
  • ทำแฟ้ม เก็บคำชม เมื่อไหร่ที่รู้สึกต้องการกำลังใจ เปิดแฟ้มเก็บคำชมขึ้นมาอ่าน จากนั้นหันกลับไปทำงานต่อ
  • การใช้ความคิดสร้างสรรค์นั้นต้องอาศัยพลังอย่างมาก เราจึงไม่มีพลังเหลือที่จะเอาไปผลาญทิ้งกับเรื่องไร้สาระ
  • ดูแลตัวเองให้ดี จงคิดว่าตัวเองจะมีชีวิตอยู่ไปอีกนาน กินอาหารเช้าให้ตรงเวลา วิดพื้นเป็นครั้งคราว เดินออกกำลังเป็นระยะทางไกล ๆ และพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ
  • อยู่ให้ห่างจากหนี้ ตั้งงบประมาณไว้สำหรับการใช้จ่าย ใช้ชีวิตไม่ให้เกินเงินที่หามาได้ ออมให้ได้มากที่สุด ศึกษาหาความรู้ด้วยหนทางที่ประหยัดที่สุด
  • อย่าทิ้งงานประจำ งานประจำช่วยให้เรามีเงิน มีสังคม และมีกิจวัตรประจำวัน เมื่อเราไม่ต้องเครียดเรื่องเงิน ก็หมายความว่าเรามีอิสระในการสร้างสรรค์งานศิลปะด้วย
  • การสร้างและรักษากิจวัตรประจำวันเอาไว้นั้นมีความสำคัญยิ่งกว่าการมีเวลาว่างเหลือเฟือ
  • ศัตรูตัวฉกาจของความคิดสร้างสรรค์ คือ ความเฉื่อยชา
  • จงสร้างสรรค์งานทุกวัน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ไม่มีคำว่าวันหยุด ไม่มีคำว่าลาป่วย
  • ทำปฏิทินของตัวเอง ปฏิทินช่วยให้เราวางแผนงานได้ เห็นเป้าหมายชัดเจนขึ้น และไม่ออกนอกเส้นทาง 
  • ฝึกสะสมความพยายามไปทีละเล็กละน้อยอย่างต่อเนื่อง ทำปฏิทิน ขีดกากบาทลงในช่องเมื่อทำสำเร็จ
  • เขียนบันทึก เขียนลงไปว่าวันนี้เราทำงานอะไรบ้าง กินอาหารกลางวันที่ไหน ดูหนังเรื่องอะไร
  • แต่งงานอย่างเหมาะสม การเลือกแต่งงานกับใครสักคนเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต
  • ความคิดสร้างสรรค์ เป็นเรื่องของการตัดทอน
  • โลกยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยข้อมูลข่าว คนที่จะก้าวนำหน้าคนอื่นได้ คือ คนที่มองออกว่าจะตัดทอนสิ่งใดทิ้ง แล้วหันมาจดจ่อกับสิ่งที่มีความสำคัญ
  • สร้างข้อจำกัด เวลาคิดอะไรไม่ออก ทางออกที่ดีที่สุดก็คือการสร้างข้อจำกัดให้ตัวเอง เช่น  เขียนเพลงให้ได้หนึ่งเพลงในช่วงพักเที่ยง วาดภาพให้ได้หนึ่งภาพโดยใช้สีเพียงสีเดียว เริ่มต้นธุรกิจโดยไม่มีทุนเลย
  • ข้อจำกัด คือ อิสรภาพ
  • อย่าเอาข้อจำกัดมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ทำงาน จงลงมือสร้างสรรค์ผลงานด้วยเวลา สถานที่ และวัตถุดิบเท่าที่มีอยู่ตั้งแต่ตอนนี้
  • ข้อจำกัดที่เหมาะสม จะช่วยให้เราสร้างงานชิ้นโบแดงออกมาได้