👋 สิ่งที่ได้เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้
“ความเก่งกาจ” “ความอัจอริยะ” คือ สิ่งที่สามารถบ่มเพาะ สร้างสรรค์ขึ้นได้ด้วยการออกแบบ และมีแบบแผน มันคือ วิทยาศาสตร์ เพียงแค่เรารู้ขั้นตอน และวิธีการ เราสามารถเก่งกาจ และเป็นอัจฉริยะได้เช่นกัน โดยสรุป 3 ขั้น คือ การเริ่มต้น –> การพัฒนา –> การรักษาความก้าวหน้า
😎 1 ประโยคที่ชอบที่สุดของหนังสือเล่มนี้
“ความเก่งกาจได้รับอิทธิพลจากการกระทำมากกว่าพันธุกรรม”
🎙️ ฟังหนังสือ 52 เคล็ดวิชา เปลี่ยนคนธรรมดาให้เป็นอัจฉริยะ (The Little Book of Talent) ในรูปแบบ Podcast
สรุปหนังสือ 52 เคล็ดวิชา เปลี่ยนคนธรรมดาให้เป็นอัจฉริยะ (The Little Book of Talent) เขียนโดย Daniel Coyle
- เราเกิดมาพร้อมกับกลไกที่สามารถเปลี่ยนมือใหม่ให้เป็นมืออาชีพได้ ซึ่งกลไกนี้ไม่ได้ถูกควบคุมโดนพันธุกรรม แต่เป็นตัวเราเอง
- เราทุกคนล้วนมีความเก่งกาจอยู่ในตัว
- การกระทำอันเรียบง่าย เมื่อทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็จะเปลี่ยนแปลงเราได้
- การฝึกซ้อมแต่ละครั้งคือการก้าวเดินไปสู่อนาคตที่ต่างจากเดิม
ส่วนที่ 1 ตั้งต้น จับตาดู ขโมย และยอมโง่
- ความเก่งกาจมีจุดเริ่มต้นมาจากช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เรียกว่า “การจุดประกาย” ที่เราเห็นคนเก่งและเกิดแรงจูงใจว่า ฉันก็เป็นอย่างพวกเขาได้
- วิธีหนึ่งที่จะช่วยจุดประกายได้ คือ การจ้องมองภาพคนที่เราอยากเป็น
- ประทับทักษะลงสมอง ตั้งอกตั้งใจเฝ้าดูทักษะที่ต้องการฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนภาพของมันประทับลงในความทรงจำอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง
- จงตั้งหน้าตั้งตาขโมยเข้าไว้ (สตีฟ จ็อบส์ ขโมยไอเดียเมาส์คอมพิวเตอร์ และรายการเมนู จากศูนย์วิจัยของบริษัทซีร็อกซ์)
- คนเก่ง ๆ ส่วนใหญ่จะจดบันทึกผลงานในแต่ละวันเอาไว้ บันทึกจะทำหน้าที่เป็นเหมือนแผนที่
- ผิดพลาด และยอมดูเหมือนเป็นคนโง่ ความผิดพลาดไม่ใช่คำตัดสิน แต่เป็นข้อมูลที่ช่วยให้สามารถทำได้อย่างถูกต้องในครั้งต่อ ๆ ไป
- สถานที่ที่เรียบง่ายจะช่วยให้เรามีสมาธิในการฝึกฝนอย่างเต็มที่
- ก่อนฝึก ต้องรู้ว่าเป็นทักษะทางตรง Hard skills (การกระทำเกิดขึ้นอย่างถูกต้องและเสมอต้น เสมอปลาย เช่น การหวดไม้ของนักกอล์ฟ) หรือ ทักษะทางอ้อม Soft skills (เป็นเรื่องของความคล่องแคล่วและการตอบสนองต่อสถานการณ์ เช่น นักลงทุนมองเห็นโอกาสที่แฝงอยู่ในวันซื้อขายที่ปั่นป่วน)
- อย่าเชื่อเรื่องเก่งแต่เกิด พรสวรรค์ที่ติดตัวมานั้น ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จในอนาคต
- ความเก่งกาจส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากทักษะทางตรงหรือทางอ้อมเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นการผสมผสานกันเสียมากกว่า
- จงให้ความสำคัญกับทักษะทางตรงมากกว่าทางอ้อม เพราะมันส่งผลต่อความเก่งกาจในระยะยาวมากกว่า
- ทักษะพื้นฐานคือทุกสิ่งทุกอย่าง (เช่น นักฟุตบอลเริ่มการฝึกซ้อมทุกครั้งด้วยการเตะท่าเดียวซ้ำ ๆ)
ส่วนที่ 2 พัฒนาทักษะ ค้นหาจุดกลมกล่อม แล้วดิ้นรนพยายาม
- หัวใจหลักของการฝึกฝนอย่างล้ำลึกคือการดิ้นรนพยายาม ไขว่คว้าสิ่งที่เกินกว่าความสามารถในปัจจุบันไปเล็กน้อย และอยู่ในเขตแดนแห่งความยากลำบาก (จุดกลมกล่อม)
- จุดกลมกล่อมหมายถึงบริเวณตรงจุดสุดขอบความสามารถ ที่จะได้เรียนรู้ได้ดีและรวดเร็วที่สุด ซึ่งจะมีความรู้สึก คับข้องใจ ลำบาก และระแวดระวังความผิดพลาด
- ลืมเรื่องเวลา การฝึกฝนอย่างล้ำลึกไม่ได้วัดกันที่ระยะเวลาในการฝึก แต่เป็นจำนวนครั้งที่ได้ดิ้นรนและทำซ้ำอย่างถูกต้อง (เช่น เปลี่ยนจากฝึกเล่นเปียโน 20 นาที เป็นเล่นเพลงใหม่ให้ได้ 5 รอบ)
- มองภาพรวม แบ่งทักษะออกเป็นส่วน ๆ ฝึกจนชำนาญ แล้วนำมาเชื่อมโยง ประกอบร่างกับส่วนอื่น ๆ
- อย่าคาดหวังการพัฒนาแบบก้าวกระโดด แต่จงมองหาวิธีพัฒนาขึ้นวันละนิด
- ยิ่งเจ็บปวด ยิ่งแข็งแกร่ง การตะเกียกตะกาย และความรู้สึกคับข้องใจเป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
- การซ้อมวันละนิด ย่อมดีกว่าการโหมซ้อมสัปดาห์ละครั้ง
- กุญแจสำคัญคือการจดจ่ออย่างเต็มที่และคอยมองหาจุดผิดพลาดทั้งหมด แล้วลงมือแก้ไขไม่ว่าจะเป็นข้อผิดพลาดที่เล็กน้อยเพียงใดก็ตาม
- เปลี่ยนการฝึก ให้เป็นเกม เช่น ฝึกจับคอร์ดกีตาร์ แทนที่จะฝึกธรรมดา ให้นับจำนวนครั้งที่ทำได้ไม่ผิดพลาด แล้วให้คะแนนครั้งละหนึ่งแต้ม
- ฝึกซ้อมตามลำพัง งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า นักดนตรีระดับโลกใช้เวลาฝึกซ้อมตามลำพังมากกว่าถึง 5 เท่า
- คิดเป็นภาพ ให้จินตนาการภาพที่ชัดเจนสำหรับทักษะส่วนย่อย ๆ ที่ต้องการเรียนรู้
- ความผิดพลาดจึงไม่ใช่ความล้มเหลว แต่เป็นข้อมูลที่ช่วยให้สมองสร้างความเชื่อมโยงที่ถูกต้อง
- หัดจัดการกับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นทันทีจนเป็นนิสัย อย่าเบือนหน้าหนี
- จงฝึกซ้อมอย่างช้า ๆ แบบเต่าคลาน ช่วยให้เรามองเห็นข้อผิดพลาดของตัวเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อลงมือแก้ไขได้ตรงจุด
- ทุกครั้งที่ทำได้ถูกต้อง ให้ทำเครื่องหมายเอาไว้ แล้วย้อนดูว่าทำแบบนั้นได้อย่างไร และมีความรู้สึกอย่างไร
- งีบ การงีบหลับช่วยให้สมองเรียนรู้ได้ดีขึ้น บรรดาอัจฉริยะระดับโลกล้วนเป็นนักงีบกันทั้งนั้น (อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ งีบหลับหลังมื้อเที่ยงวันละ 20 นาที)
- จดจ่อกับเป้าหมายไม่ใช่ความผิดพลาด
- ถ้าอยากเรียนรู้จากหนังสือ ให้อ่านรอบเดียว แล้วปิดหนังสือ พร้อมเขียนสรุป
- คิดค้นแบบฝึกหัดประจำวัน ทำอย่างไรแบบฝึกหัดจึงจะสนุก ไม่ยืดเยื้อ และทำซ้ำได้
- ทันทีสัญญาณของความเหนื่อยล้าเริ่มปรากฏ ก็ถึงเวลาต้องหยุดฝึกซ้อม ความอ่อนเปลี้ยเพลียแรงถือเป็นศัตรูตัวฉกาจ ฝึกฝนตอนที่กระปรี้กระเปร่าเท่านั้น
- ก่อนเข้านอนให้ “นึกภาพตัวเองกำลังใช้ทักษะที่ต้องการได้อย่างสมบูรณ์แบบ” ในหัวสักรอบ
- ให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ (สิ่งที่เราชอบ) กับตัวเอง เมื่อฝึกเสร็จ
ส่วนที่ 3 รักษาความก้าวหน้า
- โอบกอด การทำซ้ำ ๆ เพราะการทำซ้ำเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดสำหรับการพัฒนาทักษะ
- เลิกรอแรงบันดาลใจ มองตัวเองเป็นคนใช้แรงงาน ที่ตื่นเช้าทุกวันไปทำงาน ไม่ว่าจะรู้สึกอยากหรือไม่ก็ตาม
- เมื่อเริ่มรู้สึกไม่พัฒนา ให้ปรับเปลี่ยนวิธีการฝึก เช่น ฝึกให้เร็วขึ้น หรือทำให้ช้าลง
- ทักษะใหม่ ๆ ต้องการเวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์ จงให้เวลาความเก่งกาจ (และสมอง) ได้เติบโต
- บ่มเพาะความทรหด เพราะความทรหดคือทักษะที่จะสร้างความแตกต่างในระยะยาวได้อย่างแท้จริง
- เลิกนิสัยแย่ ๆ แล้วหันมาทุ่มเทพลังเพื่อสร้างนิสัยดี ๆ ขึ้นมาแทนที่
- จงตั้งมั่นว่าจะเก็บเป้าหมายของตัวเองเป็นความลับ การบอกให้คนอื่น ๆ รู้เป้าหมายจะทำให้คุณมีโอกาสความสำเร็จน้อยลง
- ความเก่งกาจจะเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ใจเย็น ไม่ด่วนตัดสิน ทำอย่างต่อเนื่อง และมีกลยุทธ์
อ่านจบแล้ว รู้สึกยังไงบ้าง ช่วยบอกเราหน่อยครับ 🙏
81 responses
OMG
27
Love
33
Like
21
Sad
0
Dizzy
0
Sleepy
0
Leave a Comment