👋 สิ่งที่ได้เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้
“ความคิด” สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่ หรือ สิ่งที่เล็กจิ๋วได้ ขึ้นอยู่กับเรารู้วิธีการใช้งานมันหรือไม่ การคิดใหญ่ เป็นหนทางสู่การปลดล็อกศักยภาพของเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่เกิดมาพร้อมความสามารถที่ฝังอยู่ในตัวเราตั้งแต่เกิด เหลือแค่ตัวเราที่ต้องเปิดใช้งานมัน เราก็กำหนดความคิด แล้วความคิดก็กำหนดเราด้วยเช่นกัน
😎 1 ประโยคที่ชอบที่สุดของหนังสือเล่มนี้
“เรา คือ ผลรวมของสิ่งต่าง ๆ ที่เรารับเข้ามาในชีวิตไม่ว่าจะดีหรือร้าย”
สรุปหนังสือ คัมภีร์เล่มเล็กของคนคิดใหญ่ (The Little Book of Thinking Big) เขียนโดย Richard Newton
- ถ้าอยากให้อนาคตเป็นไปตามที่ต้องการ ต้องปลดปล่อยจินตนาการให้โลดแล่น มีเป้าหมายอยู่เสมอ และคิดให้ใหญ่ขึ้น
- จินตนาการ คือ ปัจจัยที่จะกำหนดชีวิตของเรา
- การคิดใหญ่ต้องอาศัยการฝึกฝน และไม่ใช่สิ่งที่ทำสำเร็จได้ในครั้งเดียว เป็นวิถีชีวิต เป็นการมองสิ่งต่าง ๆ ในภาพใหญ่อยู่เสมอ
- การคิดใหญ่ คือ การดึงศักยภาพในตัวออกมาให้ได้อย่างเต็มที่
เคล็ดลับที่ 1 อย่าปล่อยตัวไปตามกระแส
- เรามีพลังอยู่ในตัวตั้งแต่เกิดแล้ว เราสามารถดึงศักยภาพในตัวออกมา และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้เสมอ ไม่ว่าในช่วงอายุใดก็ตาม
- ยิ่งปรับวิธีคิดให้ถูกต้องได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเข้าใจและประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ของชีวิตมากขึ้นเท่านั้น
- เราต้องตั้งต้นจากการเลือกว่าวันนี้เราจะคิดอะไร อย่างไร เพราะเมื่อเราใช้ความคิดกับสิ่งใด สิ่งนั้นก็จะเป็นแผนที่นำทางชีวิตเรา
- ผลลัพธ์ทั้งหลายล้วนมีจุดเริ่มต้นจาก “ความคิด” สมองของคนเรานั้นใช้พลังงานตลอดทั้งวัน และสิ่งที่มันทุ่มเทพลังงานให้ ก็กลายมาเป็นชีวิตของเรา
- ฝึกนิสัยควบคุมสิ่งที่ตัวเองคิดในแต่ละวัน พยายามฉุกคิดว่า “เดี๋ยวนะ นี่ฉันคิดอะไรอยู่”
- การควบคุมความคิดของตัวเอง คือ การไม่ปล่อยให้สมองคิดโดยอัตโนมัติ และไม่ตอบสนองต่ออุปสรรค หรือโอกาสต่าง ๆ ในชีวิต โดยไม่ใคร่ครวญให้ดีเสียก่อน
- สิ่งสำคัญ คือ “การเลือก” เราจะปล่อยให้ตัวเองรู้สึกแย่ เพราะคำพูดแย่ ๆ ของบางคน แล้วปล่อยให้พลังงานมหาศาลเสียไปโดยเปล่าประโยชน์?
- ยิ่งควบคุมความคิดของตัวเองได้มากเท่าไหร่ ชีวิตก็จะดีขึ้นมากเท่านั้น เพราะเราเลือกทุ่มเทพลังงานให้กับสิ่งที่จะเพิ่มพูนความสุขและความสำเร็จในชีวิต
- การคิดเป็นทักษะอย่างหนึ่ง ทักษะคือสิ่งที่สามารถพัฒนา เราเลือกได้ว่าจะคิดเพื่อให้ชีวิตตัวเองดีขึ้นหรือแย่ลง
- อย่าปล่อยไปตามกระแส เราจะเลือก ปล่อยตัวไปตามกระแสหรือจะว่ายไปจนถึงจุดหมาย นี่เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องตัดสินใจ ณ จุดใดจุดหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
- รางวัลที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตล้วนต้องแลกมาด้วยความทุ่มเทกันทั้งนั้น
- สิ่งที่ง่ายที่สุดคือการใช้ชีวิตตามกระแสไปเรื่อย ๆ เราจะลอยไปทางไหนก็สุดแท้แต่เคลื่อนลมจะพัดมา
- เวลาที่แสนจะล้ำค่าก็หายไปเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่เราไม่ใช้สมองหรือความคิดให้เต็มที่
- เรามี 2 ทางเลือก เรียนรู้ ปรับเปลี่ยน ประสบความสำเร็จ หรือ หยุดนิ่ง ประสบความล้มเหลว
เคล็ดลับที่ 2 ทำหัวให้โล่ง
- ในหัวเรา เต็มไปด้วยวังวนขยะที่มีแต่ความคิดเห็นของคนอื่น แรงกดดันในการทำงาน เสียงมือถือที่ดังไม่หยุดหย่อน ข้อความในทวิตเตอร์ ธุระจุกจิก ความกลัว และอคติต่าง ๆ
- หากอยากดึงเอาศักยภาพมาออกมาใช้ ต้องค้นหาเป้าหมาย หรือ เข้าใจตัวเองให้ได้อย่างถ่องแท้
- เราจะปลดปล่อยศักยภาพครั้งใหญ่ได้ ก็ต่อเมื่อเริ่มฝึกฝนที่จะจดจ่อกับสิ่งสำคัญ และทุ่มเทพลังงานเพื่อทำให้มัน
- การรู้ว่าสิ่งใดสำคัญกับเรา จะช่วยให้เรารู้ว่าควรทุ่มเท พลังงานไปที่ไหน
- กำหนดทิศทาง ค้นหาว่าอะไรคือสิ่งสำคัญอย่างแท้จริง เมื่อนั้นหัวของเราจะมีพื้นที่โล่ง เพื่อได้ปลดปล่อยดึงตัวตนและเป้าหมายที่แท้จริงออกมาได้ จากนั้นทุ่มเทพลังงานทั้งหมดเพื่อเป้าหมายที่แท้จริงหนึ่งเดียวนั่น แล้วมันจะนำพาเราก้าวไปข้างหน้า
- จงยอมรับว่า “เราเองนั่นแหละ เรายอมให้สมองถูกครอบงำด้วยสิ่งที่ไม่สำคัญ” ทั้งที่สามารถใช้สมองเพื่อทำให้เราเก่งขึ้น มีความสุขมากขึ้น ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตเรา และคนอื่น สังคมได้
- ชีวิตประกอบขึ้นจากสิ่งที่เราคิดในแต่ละวัน เราทุกคนล้วนถูกคลื่นลมแห่งความวุ่นวายกระหน่ำทุกวัน เป็นดั่งกระแสน้ำที่พัดพาเราให้วนเวียนอยู่ที่เดิม เหมือนติดอยู่ในวังวนขยะ
- ระบบการศึกษาในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนบรรดานักศึกษาให้เป็น “ฝูงแกะชั้นยอด” คือคนที่พยายามทำคะแนนสูง ๆ ไม่ว่าจะเผชิญกับบททดสอบใดก็ตาม แต่ไม่เคยหยุด (หรือมีเวลาพอที่จะหยุด) ใคร่ครวญถึงความสำเร็จที่ตัวเองกำลังไขว่คว้า สุดท้ายความสำเร็จที่ได้ อาจไม่สำคัญต่อพวกเขาเลย
- เราทุกวันนี้ เหมือนเปิดสถานะออนไลน์อยู่ตลอดเวลา ไล่ตามเป้าหมายอย่างไม่หยุดยั้ง แต่กลับไม่เคยมุ่งไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงของตัวเอง
- ทักษะของการคิดใหญ่แฝงอยู่ในศาสตร์แห่งการ “ใคร่ครวญ” และ “มองเห็นคุณค่า” สองสิ่งนี้จะบังคับให้เราต้องครุ่นคิดว่าสิ่งใดที่สำคัญต่อเราอย่างแท้จริง
- เราแทบไม่เคยหยุดนิ่งหรือหาเวลามาใคร่ครวญถึงความน่าอัศจรรย์ของชีวิตและจักรวาล เราผัดผ่อนไปเรื่อย ๆ และรอให้วัยเกษียณมาถึงเสียก่อน (แต่วันนั้นอาจจะมาไม่ถึงก็ได้)
- ชีวิตที่หลุดพ้นจากวังวนขยะ = การคิดใหญ่ → ใคร่ครวญว่าสิ่งใดสำคัญ → ทุ่มเทพลังงานไปกับสิ่งนั้น → รักทุกนาทีในชีวิต
- ลองปิดโทรศัพท์มือถือบ้าง เราอาจจะได้มีค่ำคืนอันสงบสุขและปราศจากความเครียด โดยที่โลกก็ยังหมุนไปตามปกติ
- ลองถามตัวเองว่า “สิ่งใดที่ฉันเคยหลงใหลหนักหนา ก่อนโดนบอกให้ไปทำสิ่งอื่น เพื่อหาเลี้ยงตัวเอง”
- ชีวิตยังมีอะไรมากกว่าทรัพย์สินเงินทอง ระบบทำให้เราลำดับความสำคัญกลับหัว คือ “ให้ความสำคัญที่เงินก่อน สิ่งที่สำคัญต่อเราจริง ๆ”
- ความคิดเป็นผลลัพธ์จากมุมมองในการมองโลกของคุณ
- จงเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีใครรักของปลอม สิ่งสำคัญในเวลานี้ก็คือ เราต้องมีความคิดที่สดใหม่ไม่เหมือนใคร
เคล็ดลับที่ 3 เติมสิ่งดี ๆ ใส่สมอง
- ไม่ว่าจะเป็นไอเดียสดใหม่ ความคิดเรื่อยเปื่อย หรือเรื่องที่จู่ ๆ เราก็เข้าใจแจ่มแจ้งขึ้นมาทันที ทั้งหมดล้วนเป็นผลรวมของทุกสิ่งที่เรารับเข้ามาในสมองทั้งสิ้น
- ปัญหาจึงไม่ใช่การไร้จินตนาการ แต่เพราะเรารู้ไม่มากพอต่างหาก
- จงเก็บเกี่ยวความรู้ให้มากเท่าที่ทำได้ ถ้าเรารับเอาสิ่งที่เยี่ยมยอดเข้ามา ความคิดและชีวิตของเราก็ย่อมได้รับอิทธิพลจากสิ่งนั้นด้วย
- ยิ่งเรารู้เกี่ยวกับสิ่งที่เราหลงใหลมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งคิด สร้างสรรค์ และรับมือกับความผิดพลาดได้ดีขึ้นเท่านั้น
- ถ้าเรามีสิ่งที่หลงใหล อยากประสบความสำเร็จ เราก็ต้องเอาตัวเองลงไปดำดิ่งในสิ่งนั้น เพราะความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากไม่มีการทุ่มสุดตัวให้กับสิ่งที่เราหลงใหล
- ยิ่งเราดื่มด่ำไปกับสิ่งนั้น เราก็จะยิ่งตกตะลึงไปกับความน่าอัศจรรย์และสามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับมันได้ดีขึ้น
- สิ่งที่เราสร้างสรรค์ขึ้นก็จะเป็นส่วนผสมของไอเดียที่ถูกขโมยมากับประสบการณ์ของเราเอง
- ยิ่งเรารู้มาก เราก็ยิ่งมีตัวเลือกและมีโอกาสสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ให้กับโลกมากขึ้นตามไปด้วย
- เคล็ดลับในการสร้างแรงบันดาลใจและโอกาสดี ๆ คือ การดำดิ่งลงไปในสิ่งที่หลงใหล ที่ทำให้เราอยากตื่นขึ้นมาในตอนเช้า ขณะเดียวกันเราก็ต้องยึดแขนให้สุดแล้วกวาดเอาความรู้ต่าง ๆ ในโลกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- จงหยุดพักสักครึ่งนาที หยุดสักครู่เพื่อพิจารณาถึงสิ่งที่เพิ่งประสบมา เพราะเมื่อหยุด สมองของเราจะรู้ทันทีว่านั่นเป็นเรื่องสำคัญ มันจะเก็บไว้ในตำแหน่งที่สามารถดึงออกมาใช้ได้ง่าย
- จงพาตัวเองไปอยู่กับคนที่จะทำให้เราเป็นตัวเราในแบบที่ดีขึ้น ไม่ว่าเราจะทำงานในสาขาใด จงเรียรู้จากคนที่อยู่แถวหน้าของวงการ
- การมีต้นแบบช่วยกระตุ้นให้เราก้าวไปข้างหน้าได้มาก จงศึกษาพวกเขาเหล่านั้น
- นักจิตวิทยา ค้นพบว่า “การมีบุคคลต้นแบบที่เคยฝ่าฟัน ความยากลำบากหรือเดินบนเส้นทางเดียวกับที่เรากำลังเดินอยู่ จะช่วยเพิ่มโอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จ”
- คุณภาพของสิ่งที่เราทำ จะขึ้นอยู่กับมาตรฐานของผู้คนและสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรา
- การคิดใหญ่มีส่วนผสมอย่างหนึ่ง คือการอยู่ว่าง ๆ โดยมี 2 รูปแบบ การทำสมาธิ และการคิดเรื่อยเปื่อย
- อาหารที่สมองต้องการไม่ได้มีแค่ความรู้เท่านั้น แต่เรายังต้องให้เวลาและพื้นที่ว่างกับมันด้วย
เคล็ดลับที่ 4 หูตา ต้องไว
- จักรวาลพยายามบอกอะไรบางอย่างกับเราอยู่ตลอด ทั้งหมดที่เราต้องทำ คือ จับสังเกตให้ได้
- ทักษะการสังเกต เป็นทักษะที่มีค่ามากและคุ้มค่าที่จะฝึกฝน
- ถ้าอยากสังเกตเห็นสิ่งต่าง ๆ ต้องเลิกจดจ่อกับความคิดที่วุ่นวายรกสมอง
- สิ่งที่ยอดเยี่ยมทั้งหลายมักเป็นผลมาจากความเบื่อหน่าย ซึ่งนำไปสู่การคิดใหญ่ในเรื่องที่เหนือความคาดหมาย
- มีการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังมากมายที่แสดงให้เห็นว่า การสร้างภาวะที่น่าเบื่อหน่าย ช่วยให้ผู้คนคิดอะไร แปลกใหม่ได้มากขึ้น
- อย่าปล่อยให้ไอเดียหลุดรอดไปได้ จดมันลงไป เขียนลงบนฝ่ามือ พิมพ์ใส่โทรศัพท์ หรืออัดเสียงก็ได้
เคล็ดลับที่ 5 อย่าปฏิเสธความจริง…แต่จงเปลี่ยนมันให้ได้
- เราจะใช้พลังงานเพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลง หรือ สร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งเท่านั้น
- การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา และเป็นส่วนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของชีวิต
- หยุดปฏิเสธความจริงที่ว่า เราต้องเปลี่ยนแปลง การต่อต้านนำเราไปสู่การหยุดชะงัก และเสียพลังงานมากมาย โดยเปล่าประโยชน์ ขณะที่การยอมรับจะช่วยให้เราสามารถตั้งเป้าหมายบนรากฐานอันมั่นคงและก้าวหน้าไปได้ไกลกว่า
- การตัดสินใจทุกเรื่องในชีวิต คือ การเลือกว่าจะยอมรับหรือต่อต้าน คนที่ต่อต้านจะบอกว่า “ฉันไม่ต้องการสิ่งนี้” คนที่ยอมรับจะบอกว่า “ลองดูสักตั้ง”
- ทุกครั้งที่เผชิญกับความท้าทาย เราต้องพูดว่า “ใช่ และ…” แล้วเดินหน้าต่อ
- หากอยากเปลี่ยนคือสภาพที่คุณคุ้นเคย หรือหากกำลังจะถูกเปลี่ยนโดยปัจจัยภายนอกอยู่แล้ว สิ่งที่จะส่งผลดีต่อเราอย่างมากก็คือ การเลิกต่อต้านแล้วยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้น แล้วเราจะกลายเป็นผู้ออกแบบการเปลี่ยนแปลงนั้น
เคล็ดลับที่ 6 ทั้งถ่อมตัว และหลงตัวเอง
- โลกที่เราคุ้นเคยช่างเล็กจิ๋ว เมื่อเราให้ความสนใจกับการขยายขอบเขตของความรู้กับประสบการณ์ออกไป เราจะเริ่มก้าวออกจากการเป็นมืออาชีพในโลกใบเล็กของเราไปสู่การเป็นมือสมัครเล่นในโลกที่กว้างใหญ่
- การมุ่งหน้าสู่พื้นที่ที่ไม่รู้จัก คือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราเริ่มคิดใหญ่
- ในหน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีแต่มือสมัครเล่นเท่านั้น ที่เป็นผู้ค้นพบสิ่งใหม่ ๆ และเดินแดนแห่งใหม่
- จงเสี่ยง ทำให้ความคิดเราเติบโต แล้วตัวเราก็จะเติบโตตามไปด้วย
- เจาะหาอุปสรรค ในการเดินทางเพื่อค้นหาชีวิตที่ดีขึ้น เราต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมาย ซึ่งถือว่าเรามาถูกทางแล้ว ถ้าเราทำผิดพลาดระหว่างทาง จงถอดบทเรียนจากมันให้ได้
- จงกล้าที่จะยืดหยัดเพื่อความคิด และถ่อมตัวพอที่จะยอมรับ เมื่อตัวเองเป็นฝ่ายผิด
- การมองโลกในแง่ดี > ความหวาดกลัว = มนตร์วิเศษที่ช่วยผลักดันให้เราก้าวไปข้างหน้า
- คนที่มองโลกในแง่ดีมักเชื่อว่าตัวเองจะมีชีวิตยืนยาวกว่า พวกเขาจึงออมเงิน กินวิตามินและอาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกาย และทำอารมณ์ให้แจ่มใส่เบิกบาน แล้วผลก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ
- ความโน้มเอียงที่จะมองโลกในแง่ดี ช่วยให้บรรพบุรุษของเราอยู่รอดมาได้ถึงทุกวันนี้
- หากมนุษย์ไม่สามารถข่มความกลัวและเลิกนึกถึงผลลัพธ์อันเลวร้ายต่าง ๆ เราก็คงไม่มีวันได้ขับรถความเร็วสูง ปีนขึ้นจรวดบินไปถึงดวงจันทร์ ลิ้มรสหอยนางรม ออกสำรวจจักรวาล
เคล็ดลับที่ 7 ใช้ของดีในตัว
- การคิดใหญ่ เป็นส่วนผสมของสองสิ่ง คือ แรงบันดาลใจ ความหลงใหลที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และ การคิดและทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อให้ความฝันกลายเป็นจริง
- เมื่อหลับตาลง ดวงตาของเราจะหมุนเข้าด้านในและจ้องมองไปยังจินตนาการอันไร้ที่สิ้นสุด
- การคิด 2 แบบ คือ คิดแบบเป็นขั้นตอน (คิดไปทีละขั้นเหมือนกำลังก่ออิฐทีละก้อน) กับ คิดแบบอิสระ (การที่อยู่จู่ ๆ มีอย่างเกิดขึ้นในความคิดผุดออกมา)
- เวลาที่เราคิดแบบอิสระ ความคิดและการเชื่อมโยงจะโลดแล่นไร้ขีดจำกัด จิตใต้สำนึกจะสนุกไปกับการผสมผสานไอเดียต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
- คิดแบบอิสระจะนำไปสู่การคิดแบบเป็นขั้นตอน
- การคิดเป็นขั้นตอน คือ การวิเคราะห์ ตรรกะ ช่วยให้เราสามารถหาทางออกให้กับปัญหาต่าง ๆ
- เราต้องรู้ว่ามีของดีในตัว และรู้ว่าเมื่อไหร่ที่ควรใช้มัน ของดีที่ว่า คือ “สมองของเรา” เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก
- ความคิดสร้างสรรค์จะพุ่งกระฉูดมากที่สุดเวลาที่คุณรู้สึกเหนื่อยล้า (ซึ่งเป็นตอนที่คุณมักจะเผลอทำพฤติกรรมแย่ ๆ ด้วย)
เคล็ดลับที่ 8 กำจัดตัวถ่วง
- เป้าหมายของเรา คือ การไขกุญแจและดึงเอาศักยภาพในการคิดใหญ่ออกมาให้ได้
- ขณะที่เราแล่นเรือไปในทะเลชีวิต เราก็เก็บเอาอะไรต่อมิอะไรมาด้วยมากมาย ซึ่งมีแต่จะคอยถ่วง และขัดขวางความคิดของเรา
- หากต้องการไปให้ไกล สิ่งแรกที่เราต้องทำ คือ หาตัวถ่วงให้เจอ
- เมื่อต้องรับมือกับปัญหาที่จัดการยาก เคล็ดลับวิธีจัดการ คือ การลองทำตัวเป็นคนอื่น (ถามตัวเองว่าคนที่เราชื่นชอบ หรือแม้คนที่คุณไม่ชอบ พวกเขาจะรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร?)
- ถ้าเรายินดีที่จะโยนความคิดเห็นทิ้งทันทีที่มีข้อเท็จจริงใหม่ปรากฏขึ้น หมายความว่าเราพร้อมที่จะเปลี่ยนความคิดได้ทุกเมื่อ ซึ่งจะทำให้เราคิดไอเดียดี ๆ ออกมาได้เสมอ
เคล็ดลับที่ 9 โดนใจ!
- ถ้าไม่โดนใจก็ไร้ความหมาย หากต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ได้ ไอเดียของเราต้องโดนใจ
- ก่อนจะลงมือทำตามไอเดีย ให้ตรวจสอบเงื่อนไข 3 ข้อ
- มั่นใจว่าไอเดียของเราสะท้อนถึงสิ่งที่ต้องการอย่างแท้จริง
- ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง
- ไม่ถูกจำกัดด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน
- หากต้องการให้คนอื่น ๆ รู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งที่คุณคิด เราต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็นนักเล่าเรื่อง
- การบอกเล่าไอเดียออกไปเป็นวิธีที่จะทดสอบคุณค่าของมันได้อย่างแม่นยำที่สุด ถ้าสามารถสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจ เราก็มาถูกทางแล้ว
- การแบ่งปันความฝันและบอกเล่าให้คนอื่นฟังว่าเรากำลังคิดใหญ่ในเรื่องอะไร นับเป็นการเปิดช่องให้คนอื่นโจมตี
- การแบ่งปันความคิดอาจหมายถึง การยอมให้การเดินทางของเราถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่นี่คือสิ่งที่ผู้คนอยากจะฟัง
- ถ้าไม่มีใครนึกสงสัยหรือตั้งคำถามกับเราเลย นั่นหมายความว่าเราไม่ได้สร้างอะไรใหม่เลย
- เมื่อเราพยายามคิดใหญ่ เสียงคัดค้านและคำวิจารณ์นั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
- ถ้าเรารับมือได้อย่างถูกวิธี และยอมรับคำวิจารณ์ที่มีประโยชน์ มันก็จะเป็นเหมือนหินที่ช่วยลับมีดของเราให้แหลมคมยิ่งขึ้น
- ถ้าเราไปถึงจุดหมายโดยไม่เสียเวลาวกไปวนมาเลย นั่นแปลว่าเราแค่กำลังเดินตามรอยคนอื่น และในเมื่อมีคนเคยใช้เส้นทางนั้นมาแล้ว ก็เท่ากับว่าไม่มีอะไรแปลกใหม่
อ่านจบแล้ว รู้สึกยังไงบ้าง ช่วยบอกเราหน่อยครับ 🙏
48 responses
OMG
21
Love
16
Like
9
Sad
1
Dizzy
0
Sleepy
1
Leave a Comment