👋 สิ่งที่ได้เรียนรู้จากหนังสือคิดแล้ว คิดอีก (Think Again)
ในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว แต่ใช่ว่าความคิดของเราจะเปลี่ยนตามไปด้วย
ถ้าเราปราศจากการละทิ้งความคิด ความเชื่อ วิธีคิดเดิม ๆ ในที่สุดเราอาจจะพบว่า เราได้ถูกทิ้งไว้ท้ายสุดแล้ว
ทักษะที่สำคัญที่สุดในยุคนี้จึงเป็น “การทบทวน” และการทบทวนตัวเองจะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มต้นจากการ “ถ่อมตัว” ว่าเรายังไม่รู้อะไรอีกเยอะเลย
😎 1 ประโยคที่ชอบที่สุดของหนังสือเล่มนี้

“ถ้าคนที่พูดว่า ฉันรู้ ฉันถูก ฉันเก่ง บ่งบอกถึงความมั่นใจ คนที่กล้าพูดว่า ฉันไม่รู้ทุกอย่าง ฉันยินดีรับฟัง ฉันพร้อมที่จะเรียนรู้ใหม่ ก็บ่งบอกถึงความกล้าหาญและสติปัญญา”
สรุปหนังสือคิดแล้ว คิดอีก (Think Again) เขียนโดย Adam Grant จากสำนักพิมพ์วีเลิร์น (WeLearn)
- ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “สิ่งที่เรายังไม่รู้ จึงมีค่ามากกว่า สิ่งที่รู้แล้ว”
- ความรู้มีด้านที่ต้องคำสาป คือ มันปิดกั้นความคิดของเราต่อสิ่งที่เรายังไม่รู้
- ก่อนที่จะว่าคนอื่น ควรจำไว้ว่าทุกคนต่างก็มีช่วงเวลาที่ไม่รู้มาก่อนกันทั้งนั้น เราทุกคนล้วนเคยเป็นมือใหม่ในเรื่องต่าง ๆ มาก่อน
- ฝึกพูดกับตัวเองอย่างสม่ำเสมอว่า “ฉันรู้ว่าฉันยังมีเรื่องที่ไม่รู้อีกเยอะเลย” การบอกตัวเองอย่างนี้แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญและสติปัญญาที่แท้จริง
- ทักษะในปัจจุบันที่สำคัญกว่าความฉลาดคือ ความสามารถในการคิดทบทวนและละทิ้งความรู้ ความเชื่อเดิม ๆ
- กระบวนการคิดทบทวน = ความถ่อมตัว > ความเคลือบแคลงสงสัย > ความอยากรู้ อยากเห็น > การค้นพบ > ความถ่อมตัว
- อะไรที่เคยทำให้เราประสบความสำเร็จในอดีต อาจจะไม่สามารถพาเราไปต่อในอนาคตได้

- คนที่มีความรู้น้อยที่สุดคือผู้ที่มีแนวโน้มจะคิดว่าตัวเองรู้มากที่สุด
- ปัญหาในปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการที่เราขาดความรู้ แต่เกิดจากการที่เรายึดติดกับความเชื่อ ความรู้เดิม ๆ ต่างหาก
- เราควรทำตัวเหมือนกับนักวิทยาศาสตร์ที่คอยตั้งข้อสงสัยกับความรู้ที่เรามีอยู่ตลอดเวลาและไม่ปฏิเสธสิ่งที่ตรงข้ามกับความเชื่อทันทีโดยที่ไม่คิดอะไรเลย
- จงเปลี่ยนจากการยึดติดในความรู้ ความคิดเดิม ๆ แล้วหันมายึดมั่นในความยืดหยุ่น การเปลี่ยนแปลง
- ยิ่งเราคิดว่าตัวเองเก่งมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะหยุดพัฒนาตัวเองมากขึ้นตามไปด้วย
- จงฝึกฝนศิลปะแห่งการคิดทบทวนให้เชี่ยวชาญ แล้วเราจะมีโอกาสประสบความสำเร็จและมีความสุขในชีวิตมากขึ้น
- เมื่อเรายึดมั่นกับความเชื่อของตัวเอง ความเชื่อเหล่านั้นมักรุนแรงและฝังรากลึกมากขึ้น ซึ่งทำให้ยิ่งนาน ยิ่งยากที่จะเปลี่ยนความเชื่อนั้นได้
- จงมองตัวเองเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับความอยากรู้อยากเห็น การเรียนรู้ ความยืดหยุ่นทางความคิด และการแสวงหาความรู้
- เมื่อค้นพบว่าตัวเองคิดผิด จงแฮปปี้ เพราะนั่นหมายความว่าเรากำลังได้เรียนรู้อะไรบางอย่างใหม่
- การยอมรับว่าตัวเองคิดผิดไม่ได้ทำให้เราดูมีความสามารถน้อยลง มันคือการแสดงความซื่อสัตย์และความเต็มใจที่จะเรียนรู้
- บางทีความฉลาดอาจเป็นคำสาปมากกว่าของขวัญ เพราะยิ่งฉลาดมากเท่าไหร่ ยิ่งมองเห็นข้อจำกัดของตัวเองได้ยากขึ้นเท่านั้น และพอเราเก่งเรื่องการใช้ความคิด มันกลับทำให้เราคิดทบทวนได้แย่ลง
- ในชีวิตเราไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบการคิดแค่มุมเดียว เราต้องสามารถปรับเปลี่ยนวิธีคิดต่อสิ่งต่าง ๆ ตามสถานการณ์ ต้องมีมีความยืดหยุ่นทางความคิด
- ผู้เชี่ยวชาญได้ประเมินบุคลิกลักษณะต่าง ๆ ของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาหลายคน พบว่าสิ่งที่พวกเขาต่างจากคนอื่น ๆ คือ ความอยากรู้ อยากเห็นและความคิดที่เปิดกว้าง
- ความมั่นใจในตัวเองไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรารู้มากแค่ไหน แต่อยู่ที่ความสามารถที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่
- กระบวนการที่จะได้มาซึ่งความเข้าใจอย่างถ่องแท้คือ 1 ใช้ชีวิต 2 ทำผิดพลาด 3 เรียนรู้จากความผิดพลาด 4 ทำซ้ำ ๆ จนเข้าใจถ่องแท้ และ 5 ตระหนักว่าในที่สุดความเข้าใจที่ถ่องแท้นี้ก็ไม่ใช่ความเข้าใจที่ถ่องแท้เลย 6 แล้วให้เริ่มกลับไปที่ข้อ 1 ใหม่ ทำแบบนี้วนไปเรื่อยตลอดชีวิต
- เมื่อค้นพบว่าตัวเองคิดผิด จงแฮปปี้ เพราะนั่นหมายความว่าเรากำลังได้เรียนรู้อะไรบางอย่างใหม่
- การคิดต่างกันหรือถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ จะช่วยสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และทำให้สิ่งต่าง ๆ แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
- เราจะได้เรียนรู้จากคนที่ท้าทายกระบวนการคิดของเราได้มากกว่าคนที่เห็นพ้องกับข้อสรุปของเรา

- การคิดทบทวนอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เรามีอิสระที่จะทำอย่างอื่นนอกเหนือจากการรับความรู้และความคิดเห็น ความเชื่อ มันคือเครื่องมือสำหรับการดำเนินชีวิตที่เติมเต็มมากขึ้น
- เวลาจะโน้มน้าวให้ใคร เราไม่จำเป็นต้องโน้มน้าวให้พวกเขาเชื่อว่าเราพูดถูก แค่ต้องเปิดใจเขาให้ยอมรับความเป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจคิดผิด แล้วความอยากรู้อยากเห็นของพวกเขาจะทำหน้าที่ส่วนที่เหลือเอง
- การรับฟังเป็นวิธีมอบของขวัญที่หายากและล้ำค่าที่สุดให้แก่ผู้อื่น มันคือความเอาใจใส่ เมื่อเราแสดงให้เห็นว่าเราใส่ใจพวกเขา พวกเขาก็จะยินดีที่จะรับฟังเรามากขึ้น
- การศึกษาเรียนรู้เป็นมากกว่าข้อมูลที่เราสั่งสมไว้ในหัว มันเป็นนิสัยที่เราพัฒนาขึ้นเพื่อที่จะได้เรียนรู้อยู่ตลอด
- อย่ารีบด่วนสรุปแผนการชีวิตในทุกด้านหรือยึดติดกับเป้าหมายเดียวหรือตัวตนที่เราอยากเป็นเพียงอันเดียว เพราะมันจะปิดกั้นความคิดเราไม่ให้เปิดรับสิ่งอื่น ๆ
- ความสุขของเรามักขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราทำมากกว่าสถานที่ที่เราอยู่ ความหมายและความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเกิดจากสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่สภาพแวดล้อมรอบตัวเรา
- เมื่อเราอายุมากขึ้น เราจะหันมาสนใจที่จะค้นหาความหมายมากขึ้น และเรามีแนวโน้มที่จะค้นพบมันจากการกระทำที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น
- ยิ่งคนเราให้ความสำคัญกับความสุขมากเท่าไหร่ เราก็มักจะมีความสุขกับชีวิตน้อยลงเท่านั้น
- จงเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จากแต่ละคนที่คุณพบเจอ เพราะทุกคนย่อมมีความรู้มากกว่าเราในบางเรื่องเสมอ
อ่านจบแล้ว รู้สึกยังไงบ้าง ช่วยบอกเราหน่อยครับ 🙏
23 responses
OMG
7
Love
12
Like
4
Sad
0
Dizzy
0
Sleepy
0
Leave a Comment